สังคม

ทนายอธิบดีกรมการข้าว เเฉ นักการเมืองอักษรย่อ 'ป.' เกี่ยวเรื่องนี้ - ผู้การฯเต่า พบหน่วยงานอื่นถูกเรียก 100 ล้าน

โดย parichat_p

29 ม.ค. 2567

99 views

ความคืบหน้าคดี ข่มขู่รีดทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว วันนี้ทนายความผู้เสียหายออกมาเปิดเผยว่า นอกจากผู้ต้องหา 3 คนที่ถูกออกหมายจับ ยังมีนักการเมืองอักษรย่อ ป.ปลา อดีตผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ส่วนรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยืนยันจะเร่งสืบสวนขยายผลหาผู้บงการ ตรวจสอบล่าสุด พบมีหน่วยงานอื่นถูกขบวนการนี้ข่มขู่-เรียกเงินอีกนับร้อยล้านบาท


นายดนุเดช ศิริวงษ์ตระกูล ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของ "นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว" เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีบัตรสนเท่ห์ส่งมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าว ทำให้ถูกเรียกเข้าไปชี้แจงและยืนยันว่างบดังกล่าว ได้โอนไปให้ ธ.ก.ส. แล้ว ทำให้อธิบดีกรมการข้าวได้มาปรึกษาว่าถูกคนกลั่นแกล้ง ต่อมาที่ปรึกษาของผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ เรียกอธิบดีกรมการข้าวเข้าไปพบ


แม้อธิบดีกรมการข้าวจะยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงบประมาณก้อนนี้ แต่ที่ปรึกษาของผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ได้แนะนำให้ไปเคลียร์กับ นาย ศ. (ศรีสุวรรณ) เพื่อเรื่องจะได้จบ เพราะหากมีการแถลงข่าวจะทำให้เสียหาย และได้นัดให้ไปให้ไปเจอที่บ้าน นาย ศ. เพื่อจ่ายเงินจำนวน 6 หลัก ซึ่งมากกว่า 1 แสนบาท ตอนนั้นคิดว่าเรื่องจะจบ จนวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นาย ศ. และ นาย จ. (เจ๋ง ดอกจิก) ได้แถลงข่าวที่รัฐสภา เรื่องการทุจริตในกรมฝนหลวง และในช่วงท้ายได้พูดว่า "กรมการข้าวแม้จะเป็นกรมเล็ก แต่มีการซุกงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท เเละยังตั้งภรรยาให้เปิดบริษัทรองรับการการทุจริต ในวันเดียวกัน นาย จ. ได้โทรมาหาอธิบดีกรมการข้าว แต่อธิบดีฯไม่ได้รับสาย


นายดนุเดช บอกอีกว่า ในวันต่อมา นาย จ. ได้โทรเข้ามาอีก เเละบอกว่าจะชวนมากินกาแฟตอนเที่ยง เมื่ออธิบดีกรมการข้าวไปพบ นาย จ. บอกว่าขณะนี้เตรียมตอบสอบงบประมาณ และเตรียมยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมการข้าวตอบกลับว่า จะตรวจสอบอะไรเพราะไม่ได้ทำความผิด


เมื่อแยกย้าย นาย จ. ได้โทรมาหาอธิบดีกรมการข้าวอีก และเรียกเงินเพิ่ม อธิบดีกรมการข้าวจึงให้ภรรยาคุยแทน โดยนาย จ. ได้เรียกเงิน 2 โล คือ 2 ล้านบาท ซึ่งภรรยาอธิบดีกรมการข้าวก็ย้ำว่า ทำไมต้องทำแบบนี้เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด หากจะดูแลกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ดูแลได้ จนสุดท้ายมีการต่อรองเงิน เหลือ 1 กิโลครึ่ง คือ 1 ล้าน 5 แสนบาท จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาได้ขอให้โอนเงินมาก่อน 1 แสนบาท ซึ่งเขาได้แนะนำให้ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว โอนไปก่อน 5 หมื่นบาท แต่บัญชีที่โอนก็ไม่ใช่ของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน แต่เป็นบัญชีของผู้ชายคนหนึ่ง


ต่อมากลุ่มผู้ต้องหาได้เร่งให้โอนเงินไปให้ครบ 1 แสนบาท ภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว จึงโอนเงินไปให้เพิ่มอีก 1 หมื่นบาท ในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 พร้อมนำหลักฐานไปปรึกษากับตำรวจ ปปป.


จากนั้นจึงโทรกลับไปหานาย ศ. พูดถึงเงินที่ยังเหลืออีก 1 ล้าน 4 แสนบาท จนวันที่ 6 มกราคม 66 ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวได้ไปที่บ้านนาย ศ. เพื่อจ่ายเงินให้อีก 1 แสนบาท โดยมีการถ่ายคลิปขณะที่ นาย ศ. รับเงินไว้ด้วย ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การออกหมายจับ และบุกเข้าค้นบ้านในวันที่ 26 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่นำเงินล่อซื้อไปมอบให้อีก 5 แสนบาท ตามที่ตกลง


ทนายดนุเดช ยอมรับว่ากังวล เพราะอาจมีฝ่ายการเมืองเข้ามาช่วยเหลือ นาย จ. ให้ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจะได้รับโทษน้อยลงจากความผิดฐาน "เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์" ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ก็จะเหลือ "กรรโชกทรัพย์" มีโทษจำคุก 1- 10 ปี ปรับ 2 หมื่น - 2 แสนบาท และจะกระทบไปถึง นาย ศ. ที่จากเดิมเป็น "ข้อหาสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด" ก็จะไม่ใช่ข้อหานี้และได้รับโทษน้อยลง


ทนายดนุเดช บอกว่าหลังเกิดเรื่อง มีอดีตผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ชื่อย่อ ป. ติดต่ออธิบดีกรมการข้าวและภรรยา ฝากให้เบา ๆ ในเรื่องนี้ และยุติบทบาท เเละยังพูดในทำนองข่มขู่ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ซึ่งทำธุรกิจฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนและตีนไก่เถื่อนด้วย


ขณะที่ พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยหลังการประชุมชุดสืบสวนในคดี โดยบอกว่า วันนี้ได้เรียกประชุมชุดทำงานจาก 3 หน่วยงาน คือ ป.ป.ช. / ป.ป.ท. / และ ปปง. การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ถือว่ามีความคืบหน้า โดยเฉพาะคำให้การของอธิบดีกรมการข้าว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี


นอกจากนี้ยังมีพยานหลักฐานอื่น ๆ อีกหลายส่วน สามารถระบุพฤติการณ์ของขบวนการนี้ได้ชัดเจน วางแผนทำเป็นขั้นตอน ทั้งคนชี้เป้า คนเคลียร์ คนรับเงิน และยังพบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งจะต้องเรียกเข้ามาสอบปากคำ โดยมีคนหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นคนให้ข้อมูลกับระดับ ’ผู้สั่งการ’ ในขบวนการดังกล่าวให้ร้องเรียนในที่ต่างๆ และยังมีข้อมูลว่ามีหน่วยงานอื่นที่ถูกเรียกรับทรัพย์จากกลุ่มนี้ในระดับร้อยล้านบาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงิน


พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ บอกว่า ตำรวจเชื่อว่า นอกจากผู้ต้องหาทั้ง 3 คน น่าจะมีผู้สั่งการในระดับสูงขึ้นไปอีก ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อน ยืนยันว่า ตำรวจยังต้องการปลาตัวใหญ่กว่านี้ แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นนักการเมืองหรือไม่


ส่วนกรณีของอธิบดีกรมฝนหลวง ที่อาจจะถูกกลุ่มนี้เรียกรับเงินนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีมูล หากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกรณีอื่น ก็จะเปิดเผยให้ทราบต่อไป


ยืนยันว่า พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับแรงกดดันมาจากฝ่ายการเมือง และยังไม่มีใครติดต่อมา หากมีก็รับมาตรา 157 ไปก่อน


ส่วนกรณีที่ในคลิปเสียงสนทนา กล่าวอ้างถึงบุคคลอื่นในขบวนการ เช่น นักข่าวหรือตำรวจ ก็อาจต้องเรียกมาชี้แจง แต่ผู้ต้องหาก็สามารถกล่าวอ้าง หรือมีสิทธิ์พูดอย่างไรก็ได้


ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีรายงานว่า อาจมีนักการเมืองเข้าไปแทรกแซง ข่มขู่เพื่อไม่ให้อธิบดีกรมการข้าวและภรรยาเคลื่อนไหว นายกรัฐมนตรีบอกว่า เชื่อว่าตอนนี้อยู่ในกระบวนการของกฎหมายแล้ว หากมีนักการเมืองหรือใครก็ตามที่ไปกดดัน เชื่อว่ารัฐบาลนี้ยอมรับไม่ได้ แต่คิดว่าคงไม่มี และไม่อยากให้มี เเละถึงแม้จะมี ก็คิดว่าไม่สามารถมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมได้


เมื่อถามว่าได้สั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือไม่ เพราะมีการพาดพิงการทุจริตไปถึงหลายกรมในกระทรวงเกษตรฯ นายกรัฐมนตรี บอกว่า เมื่อวานได้เจอร้อยเอกธรรมนัส ช่วงกลางคืน ได้กำชับไปแล้วว่าให้ดำเนินการตามกฏหมาย ซึ่งท่านก็รับปากจะดำเนินการ และจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพรุ่งนี้มีใครหยิบยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็จะมีการพูดคุยกัน


ส่วนความเคลื่อนไหวจากกระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส​ พรหม​เผ่า​ บอกว่า​ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คน ​ลงไปดู​ด้วยตัวเอง และให้ปลัดฯกระทรวงรับผิดชอบในเรื่องนี้


ส่วนกรณีในคลิปเสียง นาย จ. อ้างว่ามีผู้ใหญ่ให้มาเคลียร์ และพาดพิงถึงที่ปรึกษาร้อยเอกธรรมนัส​ / ร้อยเอกธรรมนัส​ บอกว่า​ คลิปที่ได้มามีเยอะกว่านี้​ และกำลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แต่เบื้องต้น เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของราคาคุยมากกว่า


ส่วนกรณีที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ อ้างว่า ได้มีการยกเลิกการแต่งตั้ง นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋งดอกจิก ไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ป.ป.ช. ก็ต้องไปตรวจสอบว่ายกเลิกจริงหรือไม่ เพราะตอนที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ไม่ได้มีคำสั่งยกเลิก หรือถ้ายกเลิกย้อนหลัง ก็ต้องดูว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการยกเลิกย้อนหลั งเพื่อช่วยเหลือไม่ให้บุคคลดังกล่าวต้องโทษฐานกระทำความผิด ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ เพราะหากยกเลิกหลังกระทำความผิดแล้ว ก็ยังถือว่าในขณะที่ทำผิด ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่

คุณอาจสนใจ

Related News