สังคม

กรมศุลฯ รับผิด ขายทอดตลาดนาฬิกาปลอม - ผู้เสียหายตั้งข้อสังเกต อาจมี จนท.เปลี่ยนของสอดไส้ หลังถูกจับยึด

โดย thichaphat_d

11 ก.ค. 2566

787 views

กรมศุลฯ รับผิดหลังขายทอดตลาดนาฬิกาปลอม สั่งยุติการประมูลนาฬิกาล็อตที่มีปัญหาทั้ง 13 เรือน และคืนเงินให้ผู้ประมูลทันที ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจี้เอาคำตอบภายใน 15 วันผู้เสียหายตั้งข้อสังเกตอาจมี จนท.ร่วมกระบวนการเปลี่ยนของสอดไส้หลังถูกจับยึด เผย  ผิดหวังมากเพราะไว้ใจกรมศุลฯ ไม่กล้าประมูลอีกแล้ว


วานนี้ (10 ก.ค.) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ชี้แจงโดยยอมรับผิดพร้อมยกมือไหว้ขอโทษผู้เสียหายที่ประมูลนาฬิกาแบรนด์หรูจากกรมศุลกากรไป ภายหลังพบว่าเป็นนาฬิกาปลอมเครื่องหมายการค้า โดยมีผู้มาร้องเรียน 3 ราย จากการประมูลไป 4 เรือน


โดยในล็อตนี้ได้เปิดประมูลทั้งสิ้น 13 เรือน มีผู้มาชำระเงินและรับนาฬิกาไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือเป็นการวางมัดจำไว้และรอผู้ประมูลมารับนาฬิกา แต่ตอนนี้ได้ประกาศยุติประมูลทั้งล็อต และจะคืนเงินให้กับผู้ที่ประมูลไปทันที โดยเฉพาะ 3 ราย ที่นำเรื่องมาร้องเรียนจะดำเนินการคืนเงินให้เมื่อวานนี้

อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องมีผลสรุปภายใน 15 วัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ผู้เสียหายตั้งข้อสังเกต ว่าอาจมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ร่วมกระบวนการรับเงินค่าตอบแทน เพื่อนำของปลอมเข้ามาสับเปลี่ยนหลังจากจับกุมก่อนที่จะนำออกมาประมูล และยินดีร่วมตรวจสอบ กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามที่ผู้เสียหายเสนอยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้กรมศุลกากรเสียภาพลักษณ์อย่างมาก

ส่วนข้อเสนอของผู้เสียหายที่จะขอเงินชดเชยเพิ่มเติม นอกจากค่านาฬิกาแบรนด์หรูที่ได้ชำระไปนั้น ยอมรับว่าตามกฎระเบียบของกรมศุลกากร ระบุไว้เพียงว่าสามารถชำระคืนได้แค่ค่าสินค้าเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะนำข้อเสนอไปหารือภายในอีกครั้ง

สำหรับบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบนาฬิกาล็อตดังกล่าว เป็นบริษัทที่ได้ทำสัญญาร่วมงานกับกรมศุลกากร มานานแล้ว และเป็นครั้งแรกที่พบว่าเกิดความผิดพลาด หลังจากนี้กรมศุลกากรอาจเปลี่ยนระเบียบ การตรวจสอบสินค้าจากการประมูลใหม่ โดยอาจเปิดให้ผู้ที่ประมูลได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบสินค้าเอง

รวมไปถึงเงื่อนไขที่เคยกำหนดว่า หากผู้ประมูลจะนำไปตรวจสอบเองจะต้องวางเงินมัดจำไว้สูงถึง 25% ของราคาประมูล ก็อาจจะปรับเปลี่ยนให้สะดวกมากขึ้น ส่วนบริษัทผู้ตรวจสอบที่เคยทำงานร่วมกันก็จะต้องมีการทบทวนใหม่ ซึ่งยอมรับว่า กรมศุลกากรเองไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการตรวจสอบแบรนด์หรู จึงต้องว่าจ้างบริษัทดังกล่าว โดยในครั้งนี้บริษัท ใช้วิธีส่งรูปถ่ายไปตรวจสอบที่ฮ่องกง

ด้านนายกิจธนชัย ฉิมสุทธิ หนึ่งในผู้เสียหาย บอกว่า นี่เป็นการประมูลกับกรมศุลกากรครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกได้มาประมูลเห็ดกระป๋องและมีความไว้ใจในตัวองค์กร แต่เกิดเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ผิดหวังมาก ได้ส่งรูปไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่ดูไบตรวจสอบ ก็ได้คำตอบกลับมาทันทีว่าเป็นของปลอม ของที่ประมูลได้ไม่มีกล่องไม่มีใบรับรอง และตั้งข้อสังเกตว่ามีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ และนำของปลอมมาเปลี่ยนระหว่างทาง

โดยการประมูลครั้งนี้ ตนได้ประมูลนาฬิกาโรเล็กซ์ มูลค่า 650,000 บาท ส่วนลูกสาวประมูล ริชาร์ด มิลล์ มูลค่า 4,500,000 บาท และผู้เสียหายอีกหนึ่งคน ที่ได้แลกคอนแท็คไลน์กันเอาไว้ และลูกสาวได้เป็นคนแจ้งให้ตรวจสอบ ก็พบว่าปลอมอีกเช่นกัน ซึ่งรายนั้นประมูลไปถึงสองเรือน คือ ริชาร์ด มิลล์ และปาเต๊ะ ฟิลลิป รวมมูลค่า 4 ล้านบาท

โดยกลุ่มผู้เสียหายได้โทรศัพท์ไปหาพนักงานของบริษัทผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นตัวแทนของกรมศุลกากรในการตรวจสอบนาฬิกา ก็ได้รับคำตอบเพียงว่าทำตามหน้าที่ให้ไปเจรจากับกรมศุลกากรเอง เพราะตนเองตรวจสอบก็ได้ผลมาแบบนั้น

ส่วนเรื่องที่ตนเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเติมจากค่านาฬิกา เพราะมองว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่ตนจะนำนาฬิกาที่ประมูลได้ไปเก็งกำไรต่อ และเสียความรู้สึกที่ได้นาฬิกาปลอม จากในงานที่ตนคิดว่าเชื่อถือได้ โดยยืนยันว่าจะนำเงินชดเชยดังกล่าวไปทำบุญทุกบาททุกสตางค์ และไม่ได้มีตัวเลขว่าจะต้องได้รับค่าชดเชยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับทางกรมศุลกากรจะพิจารณาให้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ได้เข้าตรวจค้นร้านขายนาฬิกาบริเวณศูนย์การค้า Siam Square One พบนาฬิกามีเครื่องหมายการค้า จำนวน 14 รายการ ทั้งนี้ ได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาตรวจสอบ พบว่ามีจำนวน 1 เรือน เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า และอีก 13 เรือน เป็นของที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ดังนั้นกรมศุลกากร จึงนำนาฬิกา 13 เรือน และได้ประกาศขายทอดตลาด ในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 โดยเปิดให้เข้าชมของกลาง วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และเปิดซองการประมูล วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมการประมูลทั้งสิ้น 18 ราย หลังจากได้รับข้อมูลจากผู้ประมูลว่านาฬิกาที่มีการประมูลจากกรมศุลกากร เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า กรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการตรวจสอบทันที ซึ่งวานนี้ (10 ก.ค.) ได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาหารืออีกครั้ง เจ้าของสิทธิ์แจ้งว่า นาฬิกาทั้งหมดที่ได้ประมูล วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า

คุณอาจสนใจ

Related News