สังคม
สธ.แนะ 3 มาตรการ หลังสงกรานต์ - XBB.1.16 ยังไม่พบรุนแรง - 'อนุทิน' ชี้ไม่มีอำนาจมอบนโยบาย สธ.แล้ว
โดย passamon_a
18 เม.ย. 2566
35 views
ตามคาด สงกรานต์ทำโควิดพุ่ง สธ.เผยยอดผู้ติดเชื้อสัปดาห์ที่แล้ว ติดเชื้อใหม่ 435 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า จากสัปดาห์ก่อน ยันพร้อมรับมือ ด้านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยันสายพันธุ์ที่แพร่ในไทย ยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้น เหมือนกันทั่วโลก มีแนวโน้มกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ที่จะระบาดในช่วงต่อไป ยังไม่พบว่ารุนแรง หรือหลบภูมิได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น
ขณะที่ อนุทิน ชี้ไม่มีอำนาจมอบนโยบาย สธ.แล้ว แต่กำชับปลัด เข้มโควิดหลังสงกรานต์ โยนถามหมอ คลัสเตอร์ใหม่หรือไม่ เผยยังอยู่ในวิสัยที่ยังไม่เสี่ยง
เมื่อวันที่ 17 เม.ย.66 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้กลับมามีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก เช่น การสังสรรค์ในครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการจัดในหลายพื้นที่ หลังงดเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มาหลายปี ซึ่งระหว่างทำกิจกรรมมีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ได้ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์
โดยสถานการณ์สัปดาห์ล่าสุด วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 รายซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำประชาชนหลังเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ
1. ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนและ LAAB ให้สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไว้ฉีดประชาชนอย่างเพียงพอ
2. สวมหน้ากากในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 607 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย และ
3.ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงานที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น
ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในประเทศอินเดียมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มแทนที่สายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป แต่ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่น ๆ และยังไม่พบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า ตอนนี้ตนเองเป็นรักษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้กำชับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปให้มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยมอบนโยบายไปก่อนหน้านี้
นายอนุทินกล่าวว่า "เพราะตอนนี้ไม่สามารถมอบนโบบาย ทำได้เพียงสนับสนุนเท่านั้น หากผู้บริหารเสนออะไรมาที่ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. หรือสิ่งที่จำเป็นตนต้องสแตนบายเร่งเพื่อให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ไม่กล้าใช้คำว่าสั่งการอะไร"
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปลัดกระทรวงฯกำลังเปิดศูนย์ฉุกเฉิน หรือ eoc และให้การยืนยันว่าแม้จะมีการติดเชื้อมากขึ้น ก็ต้องขอให้ประชาชนมารับวัคซีนให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะการฉีดวัคซีนจะสามารทำให้ระดับความรุนแรงของเชื้อลดลง ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่แล้วให้การยืนยันกับทุกคนว่า เรื่องเวชภัณฑ์และทีมแพทย์ที่มีความพร้อมมาก ๆ
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการมีความใกล้ชิดมากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีความรุนแรงส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย 608 กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และมีเชื้อโควิดเป็นตัวเร่งเร้าให้มีอาการหนักขึ้น รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอความกรุณาให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะ แต่สามารถทำให้ความเสี่ยงทั้งหลายลดลง เพราะยังเป็นเชื้อโอมิครอนอยู่ ซึ่งวัคซีนยังสามารถลดความรุนแรงของเชื้อได้
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นคลัสเตอร์ และทำมีจำนวนผู้ติดเชื้อพีคมากขึ้นเหมือนปีก่อนหรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องให้ไปถามแพทย์ แต่เท่าที่ที่ได้รับการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยืนยันว่ายังอยู่ในวิสัยที่ยังไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยง การควบคุมดูแลต้องอยู่ทั้งสองฝ่าย หากป่วยแล้วป่วยหนัก เรามียารักษา และที่เพิ่มความคุมกันไปด้วยซึ่งความเหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วย 608
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/pdeuGdnX63w
แท็กที่เกี่ยวข้อง โควิด19 ,โควิดไทย ,โควิดหลังสงกรานต์ ,โควิดXBB.1.16 ,อนุทินชาญวีรกูล