สังคม

กรมควบคุมโรคแจง 'ลองโควิด' ไม่ได้เป็นทุกคน ‘หมอธีระ’ โพสต์สวน อย่าเชื่อข่าวลวง ย้ำเป็นได้ทุกเพศทุกวัย

โดย petchpawee_k

16 ส.ค. 2565

4 views

วานนี้ (15 ส.ค. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงภาวะลองโควิด ว่าเท่าที่ติดตามดูองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้เขียนนิยามชัดเจนถึงภาวะลองโควิด แต่เป็นศัพท์ที่เราใช้กันและคุ้นเคย คือภาวะที่มีอาการป่วยหรือไม่สบายหลังจากเป็นและหายโควิด กลไกการเกิดเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายระบบ อาการที่ไม่ค่อยเจาะจงกับอาการต่าง ๆ


ทั่วโลกพยายามรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ แต่เราพบว่าคนไข้โควิดที่มีอาการหนัก หลังหายแล้วประมาณ 2-3 เดือน จะมีอาการผิดปกติไม่หายขาดหรือหายสนิท หรือมีอาการระบบอื่นๆ ตามมา ซึ่งเรากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด แต่เท่าที่ดูจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว อาการไม่รุนแรงและส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนอะไร


หลายคนพยายามออกข่าวว่าน่ากลัว แต่ความเป็นจริงเป็นเพียงสิ่งที่ต้องระวัง แต่ไม่ถึงขั้นว่าทุกคนต้องเป็น โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบ ร่างกายแข็งแรง พอหายจากโควิดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการไอบ้าง เหนื่อยบ้าง นอนไม่หลับช่วงระยะหนึ่งจากนั้นจะดีขึ้น

-----------------------------------------------------------


ขณะที่ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat ระบุ ย้ำอีกครั้งว่าลองโควิดเกิดขึ้นได้ ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย

ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก หญิงเสี่ยงกว่าชาย รุนแรงเสี่ยงกว่าอาการน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ทุกกลุ่มมีโอกาสเป็นได้

ข่าวลวงที่อ้างว่า ไม่ต้องไปกังวล Long COVID เพราะเกิดในคนที่ป่วยอาการหนักอยู่ในห้องไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ และคนที่นอน รพ.เป็นเดือน หรือคนที่มีโรคร่วมหลายโรค ไม่ถูกต้อง  

นอกจากนี้ อาการ Long COVID ยังมีการศึกษาทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่าเกิดเรื้อรังยาวนานได้เป็นปี ข่าวลวงที่อ้างว่าเป็นไม่นานอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นนั้นจึงไม่เป็นความจริง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เรื้อรังยาวนาน

ยุคข่าวลวง...จำเป็นต้องรู้เท่าทัน


นอกจากนี้อาจารย์หมอธีระ ยังได้โพสต์อีกว่า ภาวะสมองฝ่อหลังติดเชื้อโรคโควิด-19  จนถึงปัจจุบันมีการศึกษาโดยทำ MRI สมอง จากสหราชอาณาจักร (UK Biobank Study) ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ตั้งแต่ 7 มีนาคม 2565 และล่าสุดจากบราซิล เผยแพร่ในวารสาร PNAS เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา  ทั้งสองการศึกษา พบภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline)


แม้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อก่อนสายพันธุ์ Omicron แต่ก็ประมาทไม่ได้ คงต้องติดตามเรื่องผลกระทบจากสายพันธุ์ Omicron ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ดูเงื่อนเวลาแล้วคาดว่าน่าจะมีงานวิจัยประเมินผลกระทบออกมาให้เห็นช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ สำคัญมาก


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/D0P0BIPmLrM

คุณอาจสนใจ

Related News