สังคม
กรมควบคุมโรค สอบสวนโรคไอกรนระบาดในโรงเรียน พบป่วย 20 คน อาการไม่รุนแรง
โดย nutda_t
13 พ.ย. 2567
689 views
จากกรณีที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ประกาศหยุดการเรียนการสอน 2 สัปดาห์ หลังพบนักเรียนป่วยโรคไอกรน มากกว่า 2 ราย ในกรณีนี้ แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์ ชี้แจงว่าทางกรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งรายงานในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคในเบื้องต้น ทราบว่าพบผู้ป่วยโรคไอกรน จำนวน 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักฟุตบอลของโรงเรียนและเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มี อาการป่วยเริ่มแรกตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ขั้นตอนขณะนี้อยู่ในการเฝ้าระวังกลุ่มผู้สัมภาษณ์เสี่ยงทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อติดตามอาการ
ทั้งนี้ การพบผู้ป่วยโรคไอกรน ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นกลุ่มแรก เพราะเดิมมีข้อมูลรายงานการพบผู้ป่วยด้วยโรคไอกรน มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ แต่ส่วนใหญ่มักพบในเขตภาคใต้ และพบในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่ครั้งนี้เป็นการพบกลุ่มผู้ป่วยในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ซึ่งคาดเกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกันคือการเล่นกีฬา จึงให้เกิดการแพร่ระบาด
แพทย์หญิงจุไร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรคไอกรน มีวัคซีนป้องกัน ใช้มากกว่า 50 ปี โดยมีข้อกำหนดให้เด็กเล็กรับวัคซีนที่เป็นวัคซีนรวม ซึ่งจะมีไอกรน คอตีบ บาดทะยัก จึงทำให้ในปัจจุบันพบการติดเชื้อแต่อาการจะไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคหอบหืด อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาการป่วยจะรุนแรงและเสียชีวิตได้
ในกลุ่มเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ มีคำแนะนำให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ทุก 10 ปี และส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนป้องกันไอกรน เพื่อป้องกันลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงแรกคลอด ให้มีภูมิคุ้มกันโรค โดยข้อมูลในปัจจุบัน ภาพรวมของการเข้ารับวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 90 ยกเว้นในเขตภาคใต้ที่ยังเข้ารับวัคซีนน้อยจึงมีการแพร่ระบาดและมีการเสียชีวิตอยู่
สำหรับโรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาการเด่นคือ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมาก ไอหนักนาน 1-2 สัปดาห์ มีระยะในการแพร่เชื้อ 3 สัปดาห์ หลังไข้ลด โดยในกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรง จึงไม่มีการตรวจคัดกรองโรคเฉพาะ ทำให้ไม่มีข้อมูลรายงาน ส่วนใหญ่เข้าข่ายโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล การตรวจคัดกรองโรคแพทย์จะดำเนินการเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการหนักและมีข้อบ่งชี้เท่านั้น เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายราคาสูงปัจจุบันยังไม่มีชุดทดสอบ เบื้องต้นต้องทำการตรวจสอบเพราะเชื้อในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการที่พบมีการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ในสถานศึกษาครั้งนี้แนะนำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในสถานศึกษาดังกล่าวตรวจสอบประวัติการรับวัคซีนของบุตรหลานว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนครบถ้วนหรือไม่ และสังเกตอาการในช่วง 7 ถึง 14 วัน หากพบมีอาการไข้และไอ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และสำหรับสถานศึกษาหรือชุมชนหากพบมีผู้ป่วยเข้าข่ายลักษณะโรคระบบทางเดินหายใจให้แนะนำหยุดเรียนก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
เมื่อถามว่ากรณีพบผู้ป่วยไอกรนมากกว่า 2 ราย ขึ้นไป จำเป็นต้องปิดสถานศึกษาหยุดพักการเรียนการสอนหรือไม่ แพทย์หญิงจุไร กล่าวว่ามาตรการควบคุมการแพร่โรคระบาดนั้น ทางกรมควบคุมโรคกำหนดในกรณีต้องปิดสถานศึกษา หากเจอผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก เนื่องจากกลุ่มโรคนี้มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้โรคระบาดอื่นๆรวมถึงโรคไอกรน ส่วนใหญ่การแพร่ระบาดเกิดจากตัวบุคคลผู้ป่วยที่มีการไอหรือจาม มาตรการจึงกำหนดด้านสาธารณสุขไว้ให้ผู้ป่วยหยุดเรียน ส่วนจะปิดโรงเรียนหรือปิดห้องเรียนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานศึกษาพิจารณาถึงความพร้อมในการดำเนินการได้เอง
ย้ำว่า กรณีที่พบผู้ป่วยไอกรนในเขตกรุงเทพมหานคร ยังไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาด เพราะยังเจอเฉพาะกลุ่ม แต่ขอให้ทุกคนปฏิบัติตนตามมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น การสวมหน้ากากอนามัยมั่นล้างมือ เพื่อลดการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
แท็กที่เกี่ยวข้อง โรคไอกรน ,กรมควบคุมโรค