สังคม

กรมควบคุมโรค แถลงพบชาวยุโรป ต้องสงสัยฝีดาษลิง clade 1b รายแรกของไทย ยันรู้ผลชัด 23 ส.ค. นี้

โดย panwilai_c

21 ส.ค. 2567

36 views

กรมควบคุมโรค พบชาวชาวยุโรปต้องสงสัยฝีดาษลิง สายพันธุ์ clade 1b รายแรกในไทย เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกา ตอนนี้ได้แยกตัวผู้สัมผัสเสี่ยงในกลุ่มเฝ้าระวังแล้วจำนวน 43 คน เป็นเวลา 21 วัน โดยจะทราบผลยืนยันติดเชื้อที่นำไปตรวจซ้ำ ในวันศุกร์นี้



นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุได้รับรายงานจาก กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่า พบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 1b (Clade 1b) รายแรกในประเทศไทย แม้ว่ายังไม่มีการยืนยัน 100% แต่ทราบว่า ติดเชื้อฝีดาษลิงแน่นอน



โดยผู้ป่วยคนนี้เป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางจากประเทศต้นทางในทวีปแอฟริกา / ก่อนเดินทางถึงไทยมีการต่อเครื่องบิน 1 ครั้ง ที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง

และถึงไทย ในวันที่ 14 สิงหาคม



จากนั้นวันที่ 15 สิงหาคม ผู้ป่วยก็เริ่มมีอาการ ป่วย ไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยตามร่างกาย จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยหลังซักประวัติแล้วต้องสงสัย ตรวจเชื้อไวรัส พบเป็นฝีดาษลิง และตรวจเชื้อหาสายพันธุ์ ซ่งผลตรวจเชื้อ clade 2 เป็นลบ จึงตรวจ clade 1b ซ้ำ แต่ผลออกมาไม่ชัดเจน



ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการตรวจยืนยันสายพันธุ์ซ้ำ ด้วยวิธี RT-PCR และจะทราบผลยืนยันชัดเจนในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคมนี้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 43 คน เป็นผู้โดยสาร บนเที่ยวบิน แถวที่ใกล้ชิด 2 แถวหน้าและหลัง รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดคนอื่นๆ ที่ต้องสังเกตุอาการ 21 วัน



อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันว่า ขณะนี้ผู้ป่วยยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือ อาการป่วยรุนแรง เพราะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ซึ่งแม้ผลการตรวจยืนยันผู้ป่วยจะยังไม่ 100% แต่ในการควบคุมป้องกันโรค การรับรู้ข้อมูลข่าว จึงต้องรีบมาแจ้งประชาชน เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง โดยฝีดาษลิงติดต่อไม่ง่ายเหมือนโควิด-19 เพราะจะแพร่เชื้อได้ ก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว และติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง จึงไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก พร้อมคุมเข้มบริเวณด่านนานาชาติทุกด่าน



ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า ไวรัสเอ็มพ็อกซ์ หรือ ฝีดาษลิง ที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในโลกตอนนี้มีสายพันธุ์หลักทั้งหมด 2 สายพันธุ์ คือ เคลด วัน (Clade 1) ซึ่งระบาดในทวีปแอฟริกามานานจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยเชื้อตัวนี้กลายพันธุ์เป็น เคลด วันบี (Clade 1b) และกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของแอฟริกาขณะนี้ ส่วนอีกสายพันธุ์คือ เคลด ทู (Clade 2) ที่เคยระบาดทั่วโลกในปี 2565 ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 87,000 คน เสียชีวิต 140 คน

คุณอาจสนใจ

Related News