สังคม
'หมอฉันชาย' ยันไม่ได้มอนิเตอร์ 'อ.เจษฎา' ติงไม่ควรซื้อโมลนูฯ กินเอง
โดย nattachat_c
3 ส.ค. 2565
10 views
วานนี้ (2 ส.ค. 65) จากกรณี อ.เจษฎา เด็ดดวงบริพันธ์ คณะวิทย์ฯจุฬา โพสต์ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้คนครอบครัวที่ติดโควิด โดยเมื่อมีการถูกทวงติง อ.เจษฎา ก็ได้ลบโพสต์ที่เป็นปัญหา โดยระบุว่า “ทำการลบโพสต์เรื่องยาแล้วนะครับ เพื่อยืนยันเจตนากับทางอย. ว่า ผมไม่ได้ต้องการโฆษณายานะครับ แค่เอาประสบการณ์ (อันน่าเศร้า) มาเล่าให้คนอื่นฟังครับ”
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ภาพยาโมลนูพิราเวียร์ ระบุมีการสั่งซื้อมาใช้ในครอบครัว จนเกิดกระแสการซื้อยามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ว่า
การใช้ยาเกินจำเป็นนอกจากเกิดผลกระทบกับร่างกายแล้ว ยังเท่ากับเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาด้วย กรณีการซื้อยามาใช้เองของอาจารย์ดังกล่าว โดยมีการระบุว่า คนในครอบครัวไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 แต่ก็ต้องการให้คนในครอบครัวได้รับยานั้น ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง เพราะเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นแพทย์ หรือมีความรู้เรื่องยา การเขียนข้อความต่างๆ เป็นการโพสต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความคิดเห็นของแพทย์ ดังนั้น ประชาชนควรพิจารณาและเลือกเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์เท่านั้น โอกาสการดื้อยา มีเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ
มีข่าวว่า รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการติดตามมอนิเตอร์ความคิดเห็นของ รศ.ดร.เจษฎา ทางเฟซบุ๊กมาโดยตลอด การโพสต์ข้อมูลต่างๆ โพสต์แสดงความคิดเห็นแบบส่วนตัว ไม่ได้มีการอ้างอิงตามวิชาการ ดังนั้น ก็ไม่ควรนำมาเชื่อถือ ส่วนเรื่องกรณีนี้ทำให้มีการนำไปเป็นแบบอย่างและซื้อยาจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ หรือทำให้เกิดกระแสการหาซื้อยาในโลกออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการนำเรื่องนี้หารืออีกครั้งในจุฬาลงกรณ์
ต่อมา รศ.นพ.ฉันชาย ชี้แจงว่า ไม่ได้มอนิเตอร์ ความคิดเห็นของ รศ.ดร.เจษฎา และไม่เกี่ยวข้องกับตน เพราะไม่ได้ดูคณะวิทยาศาสตร์ เพียงติดตาม คอยดู รับฟัง การนำเสนอข้อมูลว่าของอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ในเชิงวิชาการ ว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสน
-----------
วานนี้ (วันที่ 2 ส.ค.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบ ระบุว่า
“งานวิจัยล่าสุด ระบุว่า "ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่กระตุ้นให้เชื้อไวรัสโรคโควิด เกิดการกลายพันธุ์ จนดื้อยา"
งานวิจัยใหม่ที่เตรียมนำเสนอตีพิมพ์ (https://www.researchsquare.com/article/rs-1835695/v1) ได้ชี้ให้เห็นว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัส molnupiravir ได้ไปเพิ่มอัตราส่วนการกลายพันธุ์แบบ ทรานซิชั่นกลายเป็นทรานสเวอร์ชั่น (transition to transversion) ในคนไข้โรคโควิด และไม่ปรากฏว่าจะไปชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ดื้อยาขึ้น ในจีโนมของเชื้อไวรัส #Background
ยา Molnupiravir เป็นยากลุ่มที่กระทำโดยตรงต่อไรโบนิวคลีโอไซด์ของไวรัส ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาโรคโควิด ยานี้เป็นยาต้านไวรัส ที่ทางกิน และไปยับยั้งโดยตรงต่อโปรตีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสายอาร์เอ็นเอของไวรัส นำไปสู่การลดลงของจำนวนไวรัสที่เพิ่มขึ้น
เป็นที่ทราบกันว่ายาตัวนี้มุ่งเป้าจำเพาะไปที่โปรตีน 2 ตัวของไวรัสโควิด คือ เอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase และ เอนไซม์ exonuclease
ยา molnupiravir ยับยั้งการสร้าง RNA ของไวรัสโควิด ด้วยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์แบบทรานซิชั่น ให้ G กลายเป็น A และ C กลายเป็น U
การทดสอบระดับคลินิก กับผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แสดงให้เห็นว่า ยา molnupiravir สามารถลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะเกิดการกลายพันธุ์ที่เป็นอันตรายจากการใช้ยา molnupiravir นี้จนทำให้เชื้อไวรัสดื้อยาขึ้นหรือไม่
จนกระทั่ง มีการทดสอบ AGILE Candidate Specific Trial (CST)-2 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินความเสี่ยงของการสะสมการกลายพันธุ์ ในผู้ป่วยโรคโควิดที่รักษาด้วยยา molnupiravir #AGILEclinicalTrial
แพลตฟอร์มการทดสอบระดับคลินิก AGILE ในประเทศสหราชอาณาจักร ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการทดสอบยา ระหว่างเกิดการระบาดของโรคไปทั่วโลก ซึ่งจากการทดสอบเฟสที่ 2 ที่มีอาสาสมัครคนป่วยยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโรคโควิดถึง 180 คน ได้ถูกสุ่มมาให้รับยาจริง เทียบกับยาปลอม (placebo) ในช่วง 5 วันแรกของการป่วย
ในกลุ่มที่ได้ยาจริง ผู้ป่วยจะได้รับยา molnupiravir มิลลิกรัม สองครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน ส่วนคนป่วยในกลุ่มยาปลอมนั้น จะเหมือนเป็นชุดควบคุมการทดลอง #ImportantObservations
ผลการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรม แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการกลายพันธุ์แบบ transition ในสาย RNA ของไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยที่รักษาด้วยยา molnupiravir เมื่อเทียบกับผู้ป่วนในกลุ่มควบคุม
ความถี่ของการกลายพันธุ์ จาก C ไปเป็น U และจาก U ไปเป็น C นั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในกลุ่มตัวอย่างที่รักษาด้วยยา Molnupiravir
เพื่อศึกษาว่าการรักษาด้วยยา molnupiravir นั้นสัมพันธ์กับการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นในอาร์เอ็นเอของไวรัสหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการแปรรหัสพันธุกรรมของไวรัสด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งในจีโนมของแวเรียนต์ (variant) ตัวที่เด่นและตัวที่รองๆลงมา และวิเคราะห์หาการกลายพันธุ์ที่ถูกชักนำด้วยยา molnupiravir
จากการที่ความสามารถในการต้านไวรัสของยา molnupiravir นั้นส่งผลโดยตรงต่อยีนของเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase และเอนไซม์ exonuclease ในจีโนมของไวรัสโควิด ยีนทั้งสองนี้จึงเป็นจุดที่จะโดน แรงกดดันในการคัดเลือกแบบบวก (positive selection pressure) ที่ชักนำมาจากการใช้ยารักษา
ผลจากการวิเคราะห์เรื่องการกลายพันธุ์ เผยให้เห็นว่า การรักษาด้วย molnupiravir เป็นเวลา 5 วันนั้นไม่ได้ชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ใดๆ ในลำดับกรดอะมิโน ของเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase และเอนไซม์
นอกจากนี้ การชักนำให้เกิดความหลากหลายของลำดับพันธุกรรมของไวรัส ก็ได้ถูกสังเกตเช่นกัน ระหว่างการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่รักษาด้วยยา molnupiravir นั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงกว่ากลุ่มควบคุม ในช่วงวันที่ 5 ความหลากหลายนี้ถูกสังเกตพบตลอดช่วงจีโนมของไวรัส โดยมีมากขึ้นเล็กน้อยไปทางด้านทิศทางปลาย 3’ #StudySignificance
ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า ยา molnupiravir ได้ทำให้เกิดผลในการต้านไวรัส ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนของการกลายพันธุ์แบบ transition ต่อ transversion ในจีโนมของไวรัสโควิด ให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความถี่ในการกลายพันธุ์จาก C ไปเป็น U, G ไปเป็น A, และ U ไปเป็น C
ยิ่งไปกว่านั้น การรักษาด้วยยา molnupiravir ดูจะไม่ได้ทำให้เกิดการสะสมของการกลายพันธุ์ขึ้น ที่ตำแหน่ง 1 ตำแหน่งใดเป็นพิเศษตลอดช่วงจีโนมของไวรัส ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้ไม่มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะปรับตัวทางพันธุกรรมอันเนื่องจากการชักนำของยา molnupiravir
ปล. เอางานวิจัยใหม่ๆ มาฝากทีมผู้บริหารจุฬาฯ ที่ขู่ว่าคอยมอนิเตอร์ Facebook ผมอยู่นะครับ เผื่อจะได้เรียนรู้ร่วมกัน อัพเดตความรู้เรื่องโควิด”
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/coDvk6NUarg