สังคม

เชฟอ้อยเดือด! คนซื้อแฟรนไชส์ลูกชิ้นโวยขายไม่ดี เชฟลั่นเพราะดัดแปลงสูตร ท้าให้ออกมาพร้อมชี้แจง

โดย paweena_c

11 ธ.ค. 2566

1.4K views

ดรามาแฟรนไชส์ลูกชิ้นเจ้าดัง ผู้ซื้อแฟรนไชส์ตัดพ้อระบบของเจ้าของแบรนด์ เอาเปรียบทำให้ขายขาดทุน ด้านเจ้าของแบรนด์ออกมาโต้กลับ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่รักษามาตรฐานไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า จึงทำให้ขาดทุน

โดยมีเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของผู้ที่ซื้อ "แฟรนไชส์ลูกชิ้น" จากเชฟชื่อดัง ที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียล โดยอ้างว่า ระบบแฟรนไชส์ ไม่ได้มีความเป็นธรรมกับผู้ซื้อ มีคนที่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน 30-40 คน ลงทุนไปยืมเงินมาว่าจะสร้างตัวได้ แต่กลายเป็นตอนนี้เป็นหนี้ทวีคูณ หลังจากเพจดังกล่าวได้โพสต์เรื่องราวแฟรนไชส์ลูกชิ้นเจ้านี้ลงไปก็มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นเพจ facebook charm Garden ของเชฟอ้อย เจ้าของแฟรนไชส์ลูกชิ้นที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ได้มีการโพสต์ตอบโต้ ว่ามีเพจหนึ่งได้ทำการลงข้อความและรูปภาพ ซึ่งข้อความดังกล่าว "เข้าข่ายการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมฯ"

ทางเชฟอ้อย จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ทั้งผู้โพสต์ ผู้ที่คอมเมนต์ ในทางที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย และผู้ที่แชร์ต่อ ทางเชฟขอเรียนย้ำให้ทราบว่า ทางเชฟอ้อยจะดำเนินคดีข้อหา "หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมฯ" กับทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และจะไม่ขอรับคำขอโทษ หรือยอมความใดๆ เพื่อให้เป็นเคสตัวอย่างต่อไป

นอกจากนี้เชฟอ้อย ยังไลฟ์ตอบโต้ ด่าผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปอย่างดุเดือด ว่าผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ ทำไปแล้วขาดทุน เพราะไม่ซื่อสัตย์ มีความโลภ หนำซ้ำยังแอบทำแบรนด์มาแข่งและขายข้ามจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

จากการพูดคุยกับเชฟอ้อย โดยเชฟอ้อยบอกว่า เรื่องราวดรามาทั้งหมดที่เกิดขึ้น เริ่มคุกรุ่นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์รุ่นที่ 2 ประมาณ 4-5 รายที่มีปัญหาตั้งแต่เรื่องการส่งเครื่องทำลูกชิ้นล่าช้าก็ออกมาโวยวายไม่พอใจ ซึ่งตนก็ได้อธิบายไปแล้วว่าเครื่องทำลูกชิ้นถูกส่งมาจากประเทศจีนและติดปัญหาเรื่องพายุเข้า ทำให้การขนส่งมีความล่าช้า จนสุดท้ายตนก็ส่งเครื่องทำลูกชิ้นให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ครบทุกราย

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เมื่อผู้ซื้อแฟรนไชส์บางราย ถูกลูกค้าคอมเพลน มาที่ตนว่า ไปซื้อลูกชิ้นจากแฟรนไชส์ในจังหวัดนี้ จังหวัดนั้น รสชาติไม่เหมือนกับต้นฉบับ, คุณภาพไม่ได้, ด้านในลูกชิ้นเละ ไม่สุก ตนพร้อมทีมงานก็เคยลงไปตรวจสอบกับแฟรนไชส์เจ้าดังกล่าว ก็พบว่ามีการดัดแปลง ไม่ทำลูกชิ้นตามสูตรที่ตนสอนไป

ซึ่งก็เคยว่ากล่าวตักเตือนไปแล้วหลายครั้ง จนสุดท้ายไม่ไหวจริงๆ จำเป็นที่จะต้องยกเลิกแฟรนไชส์ นอกจากนี้ก็ยังเคยจับได้ว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์บางรายดัดแปลงสูตร และทำแบรนด์ขึ้นมาแข่ง หรือบางราย แอบไปขายข้ามจังหวัด ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ทำสัญญาตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็จำเป็นต้องยกเลิกแฟรนไชส์ในที่สุด

สำหรับประเด็นเรื่อง ที่ตักลูกชิ้นให้ลูกค้าจนล้นถุง ส่วนของแฟรนไชส์ตักให้แค่ครึ่งถุงและอ้างว่า ขาดทุน เชฟอ้อยยืนยันว่า ราคาต้นทุนที่รับมาถุงละ 90 บาท ไม่ใช่ 60 บาทตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ซึ่งราคาที่ทางแฟรนไชส์ตั้งขายกับปริมาณที่ให้ล้นถุง ก็ยังขายได้กำไร ดังนั้นที่ผู้ซื้อเฟรนไชน์บอกว่า ขายขาดทุน เพราะไม่รักษามาตรฐานไม่รักษาคุณภาพ และไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้าทำให้ลูกค้าหายเอง

ส่วนดรามาที่เกิดขึ้น ว่ามีผู้เสียหายที่เป็นผู้ซื้อเป็นชาย 30 - 40 ราย เชฟอ้อยบอกว่า ตนเองกล้าท้าเลยถ้ามีผู้เสียหายเยอะขนาดนั้นให้ออกมา ตนเองพร้อมชี้แจงทุกกรณี ผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกหลายราย ที่ทำการค้าขายได้ปกติไม่มีปัญหา หลังเกิดเรื่องก็ยังมีผู้ซื้อแฟรนไชส์รายอื่นๆส่งกำลังใจมาให้ และเรื่องที่เกิดขึ้นมองว่า คนที่เสียหายคือตนเอง

ด้านคุณเล้ง หนึ่งในผู้ซื้อแฟรนไชส์ สาขา จ.นนทบุรี เปิดเผยว่าตนเสียเงินซื้อแฟรนไชส์ ดังกล่าว 2 แสนกว่าบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ ค่าวัตถุดิบต่างๆ และที่ผ่านมา หลังจากตกลงซื้อแฟรนไชส์จากเชฟอ้อย ก็เกิดปัญหาเรื่องเครื่องบด เครื่องปั้นลูกชิ้นล่าช้า 1-2 เดือน ซึ่งตามกำหนดเชฟต้องส่งเครื่องภายใน 15 วัน ทำให้ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถผลิตลูกชิ้นขายได้

ทางเชฟอ้อยก็แก้ปัญหาด้วยการให้รับลูกชิ้นจากทางเชฟอ้อยไปขายก่อน โดยคิดราคาส่งกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งเวลาตัดขายให้กับลูกค้า 1 ถุงตามที่โฆษณา น้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 ขีด และต้องขายในราคาถุงละ 100 บาท หักกำไรต้นทุนแล้วแทบไม่เหลือ ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์บางรายจำเป็นต้องตัดให้ไม่เต็มถุงจึงทำให้เกิดประเด็นดรามาจากลูกค้าซึ่งก็เข้าใจในมุมของลูกค้า แต่ลูกค้าก็จะไม่ทราบราคา ต้นทุนที่รับจากเจ้าของแบรนด์

ส่วนประเด็นที่เชฟอ้อย บอกว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์บางรายไม่รักษามาตรฐานของแบรนด์ จึงอยากถามกลับไปว่ามาตรฐานของแบรนด์คืออะไรบ้าง, สูตรการทำลูกชิ้นที่เปิดอบรม ก็ไม่ได้มี รายละเอียดบอกชัดเจน แต่บอกให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เข้าไปฟังและจดรายละเอียดเอง ซึ่งใครได้ยินแบบไหนก็จดแบบนั้น เช่น บางคนอาจจะได้ยินน้ำตาล 10 กรัม บางคนอาจจะได้ยินเป็นน้ำตาล 4 กรัม

นอกจากนี้เรื่องป้ายและโลโก้ ทางแบรนด์บอกว่า ให้ใช้ได้ ซึ่งทุกคนเข้าใจว่า ทางแบรนด์จะออกแบบและส่งป้ายมาให้ด้วย แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ทางผู้ซื้อแฟรนไชส์ ต้องไปออกแบบ ดีไซน์โลโก้และสั่งปริ้นเอง ทำให้ลูกค้าจะเห็นว่า ป้ายแฟรนไชส์แต่ละเจ้าจะไม่เหมือนกัน

ขณะที่คุณเดียร์ผู้ซื้อแฟรนไชส์อีกราย สาขาจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่าปัญหาของตนที่เจอ คือ การส่งเครื่องล่าช้า เพราะตอนนั้นจะนำเครื่องมาผลิตลูกชิ้นขายในงานแห่เทียนที่จังหวัดอุบลราชธานีปลายเดือนกรกฎาคม แต่พอทางเจ้าของแบรนด์ส่งเครื่องล่าช้าทำให้ขาดโอกาสไม่สามารถขายของทันงานแห่เทียนได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยถามเชฟอ้อยว่า จะหาซื้อเครื่องปั่นบดด้วยตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาไปก่อนได้หรือไม่ เป็นขนาดเครื่องเล็ก 4 กิโลกรัม แต่ทางเชฟอ้อยบอกว่าไม่ได้เพราะเครื่องที่เชฟอ้อยจะส่งให้เป็นขนาดเครื่อง 8 กิโลกรัม ถ้าทางแฟรนไชส์ไปหาซื้อเครื่องเอง และเป็นเครื่องเล็กกว่าจะทำให้สูตรไม่ตรง และ จะได้ไม่ตรงตามมาตรฐานของลูกชิ้นเชฟอ้อย

คุณเดียร์ บอกว่าหลังจากนั้นก็ไม่ตัดสินใจซื้อเครื่องปั่นบดเลย รอจนกว่าทางเชฟอ้อยจะส่งเครื่องมาให้สุดท้ายปรากฏว่าส่งเครื่องขนาด 4 กิโลกรัมมาให้ และตั้งแต่ซื้อแฟรนไชส์ในราคากว่า 200,000 บาท รอ 2-3 เดือน กว่าจะได้เครื่อง ทำให้เสียโอกาส เพราะเพิ่งได้ขายลูกชิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และล่าสุดเชฟอ้อยไลฟ์สด ด่าแฟรนไชส์บางรายว่าตักไม่เต็มไม่อร่อยไม่ได้มาตรฐาน ตอนนี้ทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/ht8AK5VmS4s

คุณอาจสนใจ