สังคม
ศบค.กางแผนผ่อนคลายมาตรการ จ่อประกาศระดับสีแต่ละจังหวัด ร้านอาหารเปิดนั่งทานที่ร้านได้แล้ว
โดย weerawit_c
15 พ.ค. 2564
198 views
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ โควิด-19 วันที่ 14 พ.ค. 2564 ติดเชื้อใหม่ 2,256 ราย จากเรือนจำ 183 ราย รวมสะสม 96,050 ราย เสียชีวิต 30 รวมเสียชีวิตสะสม 548 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 30 ราย ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพมหานคร 11 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 14 ราย อายุต่ำสุด 15 ปี เป็นผู้ป่วยพิการทางสมองติดเตียง สูงสุด 85 ปี นอกจากนี้ยังพบอาชีพเสี่ยงเป็นคนขับแท็กซี่ 2 ราย และในกลุ่มที่เป็นผู้ร่วมงานเลี้ยง 2 ราย ทั้งนี้ กทม. และปริมณฑล ยังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย เป็น กทม. 1,087 ราย ปทุมธานี 157 ราย นนทบุรี 131 ราย และสมุทรปราการ 121 ราย โดย กทม. และปริมณฑล รวมกัน ยอดอยู่ที่ 1,563 ราย ต่างจังหวัด 505 ราย ซึ่งมากกว่า 3 เท่า
ที่ประชุมได้หารือมาตรการการผ่อนคลายการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และระดับของพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับร้านอาหาร สธ. ได้เสนอหลักการ เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน
โดยมีหลักเกณฑ์ 5 ข้อ
1. ลักษณะการระบาดในชุมชน โดยพิจารณาจากจำนวนและความต่อเนื่อง คือ
1.1 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายต่อวันอย่างน้อย 1 วันใน 1 สัปดาห์ หรือเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์มากกว่า 50 รายต่อวัน
1.2 พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ 20-50 รายต่อวัน
1.3 พื้นที่ควบคุม มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 20 รายต่อวัน
1.4 พื้นที่เฝ้าระวังสูง มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 10 รายต่อวัน และ
1.5 พื้นที่เฝ้าระวัง ไม่มีผู้ป่วย อย่างน้อย 1 สัปดาห์
2. จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่พบกับการระบาดต่อเนื่องและเสี่ยงต่อการแพทยระบาดเชื้อ
3. จังหวัดที่มีการระบาดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย
4. จังหวัดที่ติดกับชายแดนหรือเคยมีผู้เดินทางเข้าในพื้นที่ติดเชื้อ
5. สัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชากรในพื้นที่ (ปรับลดระดับกรณีได้รับวัคซีนมาก)
โดย หากมีการปรับลดสี มาตรการที่ผ่อยคลาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือ ในร้านอาหาร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถบริโภคในร้านโดยนั่งได้ไม่เกิน 25% ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านไม่เกิน 23.00 น. (งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน) พื้นที่ควบคุมสูงสุด บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. (งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน) และพื้นที่ควบคุม บริโภคในร้านได้ตามปกติ (งดการจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน)
ขณะที่คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าจับตาคือ 'คลัสเตอร์เรือนจำ' หลังกรมราชทัณฑ์ เผย ผลตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรม ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 พบผู้ต้องขังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสิ้นจำนวน 506 ราย และพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ จำนวน 2 ราย รวม 508 ราย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการ Walk-in ฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นพ้องตรงกันเรื่องนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด Walk-in ซึ่งจะเริ่มได้เมื่อมีวัคซีนจำนวนมากคือ ช่วงมิถุนายนนี้เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะมีวัคซีนหลายล้านโดส ส่วนการเข้าถึงวัคซีนจะมีการนัดผ่านระบบหมอพร้อม ผ่าน อสม. หรือนัดรวมกลุ่มเข้ามาฉีด และการ Walk-in เพื่อความสะดวก
ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนจะจัดสรรไปตามจำนวนที่แต่ละจังหวัดแจ้งเข้ามา จะจัดส่งวัคซีนให้อย่างเพียงพอและไม่ขาดตอน ส่วนการจัดสรรภายในจังหวัดอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนกรุงเทพมหานคร ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 พิจารณาว่า จะให้จัดสรรวัคซีนลงไปในพื้นที่ไหนอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมให้การสนับสนุน
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การซื้อวัคซีนของโมเดอร์นานั้น รพ.เอกชน สามารถดีลตรงกับทางบริษัทผู้นำเข้า คือบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้เลย แต่ตอนนี้ทางบริษัทยังไม่มีวัคซีนส่งให้ เบื้องต้นจะมีวัคซีนให้ประมาณ ต.ค. นี้ ดังนั้นในช่วงนี้จึงอยากบอกกับประชาชนว่า อย่ารอ ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้นั้นถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี หากได้รับสิทธิแล้วก็ขอให้ไปฉีด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ประเทศจะได้ปลอดภัย แน่นอนว่าก็อาจจะส่งผลให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนของเอกชนน้อยลง แต่ช่วงนี้เราไม่อาจจะเห็นแก่ตัวได้ อีกทั้งตอนนี้ก็มีการศึกษาแล้วว่าการรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เข็มที่ 3 จะฉีดของยี่ห้ออะไรก็ได้ เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการฉีดกระตุ้นทุกๆ ปี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานด้านสาธารณสุข มาตรวจความเรียบร้อยของโรงพยาบาล "บุษราคัม" ภายในอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ก่อนเปิดรับผู้ติดเชื้อโควิดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันนี้ 14 พ.ค. เป็นต้นไป ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นจุดสำคัญ รองรับผู้ป่วยทั้งจากโรงพยาบาลสนาม และสายด่วนต่างๆ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยนายกรัฐมนตรี กล่าย้ำว่าการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล แม้ไม่ดีที่สุดแต่ก็ไม่เลวร้ายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
สำหรับโรงพยาบาล "บุษราคัม" จะเน้นการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เพื่อเพิ่มพื้นที่เตียงของโรงพยาบาล ไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนักสีแดง ได้อย่างเต็มที่
เบื้องต้นมีขีดความสามารถรองรับได้ ประมาณ 1,092 เตียง มีฉากกั้นเป็นสัดส่วนแบ่ง 4 โซน โดยเฉพาะห้องความดันลบ แยกชาย-หญิง และพื้นที่ส่วนกลาง ภายในติดตั้งเครื่องช่วยหายใจกว่า 100 เครื่อง บนหัวเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนั้น ยังมีห้องแล็บ เครื่องเอกซเรย์ปอด และแพทย์ประจำการ ถือเป็น รพ.สนามขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับโรงพยาบาลจริง โดยจะระดมบุคลากรสาธารณสุข จาก 60 จังหวัด ที่พบการแพร่ระบาดน้อยมาหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ รวม 780 คน
ทั้งนี้จำนวนเตียงขึ้นอยู่กับแนวโน้มของสถานการณ์ ซึ่งที่โรงพยาบาล "บุษราคัม" สามารถขยายเตียงสูงสุดได้มากถึง 5,000 เตียง
แท็กที่เกี่ยวข้อง ผ่อนคลายมาตรการ ,เปิดร้านอาหาร ,ขยายเวลาเปิดร้านอาหาร ,ศบค