สังคม

ผู้บริหาร รร.เดอะบาซาร์ แจงไม่ย้ายรูปปั้น 'ครูกายแก้ว' เพราะให้เช่าที่ไปแล้ว ตั้งได้ตามสัญญา 20 ปี

โดย parichat_p

28 ส.ค. 2566

1K views

ตัวแทนผู้บริหารโรงแรมบาซาร์ โฮเทล แบงคอก เปิดแถลงข่าวถึงกรณีการตั้งรูปปั้น ครูกายแก้ว ยืนยันกลุ่มผู้บริหารใหม่นำโดยนายชาญ ตุลยาพิศิษฐ์ชัย มี สิทธิ์ในการแบ่งเช่าพื้นที่และผู้เช่าพื้นที่เช่าไปเพื่อนำรูปเคารพมาประกอบธุรกิจการขายเครื่องบูชาดังนั้นการตั้งครูกายแก้วในพื้นที่ดังกล่าวถือว่าชอบตามกฏหมายและทางโรงแรมไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนได้


โดยนายชาลี นพวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการประธานกรรมการบริหาร (คนนั่งกลาง) ระบุว่า สำหรับพื้นที่ของโรงแรมทั้งหมดเป็นที่ดินที่มีการเช่ามาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งทางบริษัท ได้มีการเช่าพื้นที่ดังกล่าวโดยการกู้ยืมผ่านธนาคารอิสลาม ในขณะนั้นนำโดยผู้บริหารชุดเก่าคือนายไพโรจน์ ทุ่งทอง ก่อนที่ต่อมาจะมีการแบ่งหุ้นออกมาจำนวน 20% โดยให้ คุณชาญ เป็นผู้นำเงินมาลงทุนในธุรกิจ


ก่อนที่ต่อมานายไพโรจน์จะบริหารธุรกิจโจทก์ไม่สามารถดำเนินการในธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนและมีปัญหาขาดสภาพคล่องในการ ชำระหนี้กับทางเจ้าหนี้ จนนำไปสู่การถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ล้มละลาย ซึ่ง คุณชาญ ได้เข้ามาดำเนินการทำแผนฟื้นฟูและขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำสั่งศาลในการเป็นผู้บริหารแผน ฟื้นฟูในครั้งนี้


ซึ่งเมื่อคุณชาญเข้ามา ดำเนินการฟื้นฟูธุรกิจก็พบกับปัญหาการทุจริตเงินเข้าออกต่างๆที่พบว่ามีการทุจริตหลาย 100 ล้านบาท จนนำไปสู่การฟ้องกลุ่มผู้บริหารเก่ารวมถึงตัวนายไพโรจน์ เองด้วย โดยเมื่อคุณชาญเข้ามาบริหาร เพื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มีการพูดคุยกับทางอาจารย์หน่อยเกี่ยวกับการปรับฮวงจุ้ย เพื่อช่วยเสริมให้กับธุรกิจมีความเจริญเติบโตเพื่อให้พ้นกับสภาพหนี้สิน ก่อนที่ทางอาจารย์หน่อยจะมีการเสนอให้มีการตั้งรูปเคารพทางคุณชาญจึงตกลงให้ ทางอาจารย์หน่อยเข้ามาดำเนินการรับผิดชอบในส่วนดังกล่าวในเงื่อนไขการแบ่งเช่าพื้นที่บริเวณลานหน้าโรงแรม ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของรูปปั้นครูกายแก้ว โดยมีเงื่อนไขการเช่าอยู่ที่เดือนละ 200,000 บาทหรือปีละ 2,400,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยหากมีการขอยกเลิกสัญญาก่อนก็จะต้องถูกดำเนินการปรับตามเงื่อนไข ซึ่งการแบ่งเช่าพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นรายได้ที่ทางโรงแรมสามารถนำมาบริหารธุรกิจได้


ดังนั้นในส่วนของบริษัทคู่กายแก้วที่เป็นผู้เข้ามาดำเนินการเช่าพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้จุดประสงค์ในการตั้งรูปเคารพเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายเครื่องบูชาต่างๆ และมีการนำรูปปั้นครูกายแก้วมาตั้งหลายพื้นที่จึงถือว่าสามารถทำได้ตามกฏหมายเพราะในสัญญาไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องมีการตั้งรูปปั้นใด รวมถึงว่าถ้าในอนาคตจะมีการปรับพื้นที่มีการนำรูปเคารพใหม่เข้ามาตั้งก็เป็นสิทธิ์ของบริษัทครูกายแก้วที่สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งกับทางโรงแรม


แต่เบื้องต้นหลังจากที่เรื่องของรูปปั้นครูกายแก้วเป็นที่สนใจของประชาชน ทางโรงแรมได้มีการพูดคุยกับทางบริษัทครูกายแก้วและกรุงเทพมหานครเพื่อหาแนวทางในการปรับพื้นที่เพื่อลดความกังวลของพี่น้องประชาชนบางกลุ่ม โดยจะมีการจัดตั้งโดมปกปิดพื้นที่ตั้งรูปปั้นครูกายแก้ว ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้เช่าจะต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เองเบื้องต้นมีการเสนอโครงการที่มีมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง แต่หลังจากเสนอโครงการตัวคุณชาญได้มีการช่วยเหลือเงินในการจัดทำโครงการนี้ไปจำนวน 20 ล้านบาท จึงเชื่อว่าจะช่วยลดความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนบางกลุ่มได้


ส่วนตัวคิดว่าการที่ตัวนายไพโรจน์ ออกมาดำเนินการให้ข่าวถึงเรื่องการยื่นต่อศาลล้มละลายให้เพิกถอนการตั้งรูปปั้นนี้เพราะตัวนายไพโรจน์กำลังถูกกลุ่มผู้บริหารใหม่ นำโดยคุณชาญ ฟ้องร้องเรื่องการทุจริตที่ขณะนี้มีการยื่นฟ้องไปแล้วจำนวนสองคดีตามพ.ร.บ.หุ้นส่วน บริษัท และคดีลักทรัพย์ และต่อจากนี้เชื่อว่าจะมีคดีที่ถูกฟ้องร้องรวมกันอีก มากกว่า 30 คดี จึงเป็นเหตุให้ตัวนายไพโรจน์ต้องออกมาเคลื่อนไหวให้ข่าวและอ้างสิทธิ์ในการเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 80% ซึ่งหุ้นจำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มีอยู่จริงเพราะปัจจุบันหุ้นที่ถูกค้ำประกันจากการกู้ที่ผ่านมาถูกเจ้าหนี้ยึดตามเงื่อนไขการผิดชำระหนี้เป็นที่เรียบร้อยและทางเจ้าหนี้ทุกรายก็มีมติให้ตัวกลุ่มผู้บริหารใหม่เข้ามาดำเนินการบริหารธุรกิจในแผนฟื้นฟู จึงถือว่าตัวนายไพโรจน์ไม่มีสิทธิ์ในจำนวนหุ้นดังกล่าวแล้ว


ตนเองยังขอฝากถึงตัวนายไพโรจน์ว่าการออกมาเคลื่อนไหวให้ข่าวที่กระทบกับการบริหารธุรกิจแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับตัวธุรกิจและตัวนายไพโรจน์เอง เพราะหากธุรกิจสามารถดำเนินการเคลียร์หนี้สินได้ตัวนายไพโรจน์ก็จะไม่ถูกฟ้องล้มละลายที่ขณะนี้เป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาล


ขณะที่มีประเด็นว่านายไพโรจน์มีการฟ้องคุณชาญ กับกลุ่มผู้บริหารใหม่ว่ากระทำการยักยอกทรัพย์สินบริษัท ด้านนายสิทธิชัย หอมศิริวรรณ ที่ปรึกษาทางกฏหมาย (คนนั่งขวามือของกล้องใส่แว่น) ยืนยันว่าคำร้องดังกล่าวคือคำร้องเดียวกันกับที่มีการยื่นให้ถอดถอนรูปปั้นออกจากพื้นที่และยังมีประเด็นอื่นปีกย่อยซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญส่วนเรื่องการยักยอกเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งรูปไดโนเสาร์ในพื้นที่และเมื่อกลุ่มผู้บริหารใหม่เข้ามาดำเนินการบริหารตามแผนฟื้นฟูเห็นว่ารูปปั้นไดโนเสาร์อยู่ในสภาพชำรุดสุดโทรมไม่เป็นที่น่าสนใจของประชาชนอีกแล้วจึงมีการหรือถอนและจำหน่ายออกไปโดยเงินดังกล่าวก็มีการส่งเข้าบริษัทตามปกติจึงถือว่าไม่ใช่การยักยอก ทางทีมกฎหมายมีหลักฐานทางเอกสารทั้งหมดอย่างชัดเจนเชื่อว่าสามารถตอบประเด็นนี้ได้ในชั้นศาล

คุณอาจสนใจ

Related News