สังคม

ผู้บริหารระทม ‘ปางช้างแม่สา’ ใกล้ปิดตัว แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว มรดกถูกยักยอก 117 ล้าน

โดย chutikan_o

16 ก.ค. 2566

1.6K views

ผู้บริหารเปิดใจสถานการณ์ ‘ปางช้างแม่สา’ แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหวใกล้ปิดตัว ค้างจ่ายค่าเช่าที่ดิน-ค่าจ้างพนักงาน วอน นทท.ช่วยสนับสนุน มีปัญหาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และมรดกถูกแอบเบิกกว่า 117 ล้าน ฟ้องดำเนินคดีแล้ว 6 คน


นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา พาสื่อมวลชนเดินดูรอบบริเวณปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมแถลงข่าวถึงสถานการณ์ของปางช้างว่า ปางช้างแม่สานับถอยหลังเพื่อรอวันปิด เพราะขาดเงินหมุนเวียน มรดกที่พ่อชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ก่อตั้งปางช้างแม่สา ทิ้งไว้หลายร้อยล้าน ให้เธอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกร่วมอีกคนนั้น ตกลงกันไม่ได้ จนกระทั่งที่ดินเลี้ยงช้าง ทางเจ้าหน้าที่ราชพัสดุแจ้งให้จ่ายค่าเช่าที่คงค้าง 6 แสนบาท ฟ้องเอาผิดมีผู้แอบเบิกเงินมรดก 117 ล้านบาท วอนตำรวจเอาผิดผู้ร่วมกระบวนการทำผิด 6 คน ดำเนินคดีอาญา และแพ่ง รวมทั้งธนาคารด้วย




ผู้บริหารปางช้างแม่สา กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็พยายามอย่างที่สุดแล้วเพื่อที่จะรักษาปางช้างแม่สา ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้ต้องปิดปางช้าง และปิดการแสดงช้างนานร่วม 4 ปี พอ สถานการณ์ปัญหาเรื่องโควิด-19 ลดลง และประเทศไทยเปิดให้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จึงสามารถเปิดให้บริการปางช้างแม่สาได้ แต่ก็ไม่สามารถจัดการแสดงช้างได้อย่างเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงที่ปิดปางช้างไปนั้น ทำให้ช้างห่างเหินกัน และควาญช้างที่ฝึกช้างก็ลาออกไปจำนวนหลายคน จึงต้องงดในส่วนการแสดงและให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมฟรี พร้อมกันนี้เธอมีแนวนโยบายที่จะผลักดันให้ปางช้างแม่สาเป็นมูลนิธิอนุรักษ์ปางช้างแม่สา เพื่อให้นักท่องเที่ยวชมและสัมผัสช้างตามวิถีทางธรรมชาติให้ได้มากที่สุด พร้อมกับจัดโปรแกรม Elephant care ทดแทนในส่วนของการจัดแสดงโชว์ช้าง ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาร่วมพอสมควร แต่ในสภาวะปัจจุบัน รายได้ก็ยังไม่พอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเรื่องอาหารของช้าง รวมไปถึงบุคลากรที่ดูแลช้าง ซึ่งยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว




“ยอมรับตรงๆ ในปัจจุบันสภาพอาคารต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ภายหลังจากที่ได้ปิดปางช้างแม่สาลงไปในช่วงระยะหนึ่งประกอบกับไม่มีรายได้พอที่จะเข้ามาพัฒนาดูแลซ่อมแซม ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการจัดการมรดกที่ไม่ลงตัว และยังมีปัญหาในการฟ้องร้องกัน ซึ่งเธอในฐานะทายาทของปางช้างแม่สา ได้ต่อสู้ในด้านกฎหมายมา 5 ปีกว่าแล้วจนถึงปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินในส่วนที่พ่อชูชาติทำพินัยกรรมมอบให้กับปางช้างแม่สาเอาไว้ เพื่อที่จะนำเงินมาพัฒนาต่อยอดดูแลปางช้างแม่สาต่อไปได้” นางอัญชลีกล่าว




ส่วนของเรื่องที่ไม่ได้จัดให้แสดงช้างเพื่อหารายได้เพิ่มนั้น นางอัญชลี กล่าวว่า เธอได้โพสต์คลิปชี้แจงลงผ่านทางเพจของปางช้างแม่สา ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถจัดแสดงช้างในรูปแบบเก่าได้ รวมไปถึงเธอพยายามที่จะผลักดันปางช้างแม่สาให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้จัดโชว์แสดงในรูปแบบเก่าแล้ว แต่ได้จัดโปรแกรม Elephant Care ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับช้างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำให้ช้าง การทำอาหารให้ช้าง หรือการป้อนอาหารให้ช้าง เป็นต้น จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวและช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์ช้างของปางช้างแม่สา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบัตรเข้าชมช้าง นักท่องเที่ยวชาวไทยในราคา 100 บาท พร้อมรับตะกร้าผลไม้สำหรับป้อนอาหารช้าง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเข้าชมได้ในราคา 300 บาท รับตะกร้าผลไม้เพื่อป้อนอาหารช้างจำนวน 1 ตระกร้า หรือเข้าร่วมโปรแกรม Elephant Care สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเพจเฟซบุ๊กปางช้างแม่สาได้




นางอัญชลี กล่าวว่า ภายหลังจากที่เธอเข้ามาบริหาร พบว่ามีเงินที่อยู่ในธนาคารที่ใช้หมุนเวียนเลี้ยงช้างของบริษัทปางช้างแม่สาอยู่จำนวนหนึ่ง และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีการเบิกเงินจำนวนนั้นออกไปเกือบหมดบัญชีที่มี 6 บัญชี จำนวนร้อยกว่าล้าน เธอในฐานะผู้จัดการมรดกจึงได้แจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งพบมีผู้ร่วมกระทำผิดจำนวน 6 คน มีทั้งคนที่เป็นทายาทและพนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทปางช้างแม่สา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งทางตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาคนทั้งหมดไว้แล้ว เธอก็รอให้ทางตำรวจดำเนินการก่อน ส่วนในคดีอื่นทางศาลที่ฟ้องร้องกันอยู่ก็ยังรอ แต่ก็มีท่าทีจะยืดเยื้อออกไป ซึ่งมีทายาทต้องการให้นำทรัพย์สินทั้งหมดมารวมกันและหารแบ่งกันในจำนวนทายาททั้งหมด แต่หากทำเช่นนั้นปางช้างแม่สาที่มีการโอนทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมไปให้จะอยู่อย่างไร ถ้าทุกคนยอมปฎิบัติตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ก็ไม่มีปัญหา ช้างก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน




ผู้บริหารปางช้างแม่สา กล่าวอีกว่า ไม่กี่วันมานี้ปางช้างแม่สาได้รับเอกสารและประสานมาจากทางเจ้าหน้าที่ราชพัสดุ ทวงถามถึงค่าเช่าที่ในปางช้างจำนวน 31 ไร่ และอีก 200 ไร่ รวม 35 แปลงรอบๆ ปางช้าง ที่ต้องจ่ายปีละ 6 แสนบาท ก็ยังค้างจ่าย รวมทั้งเงินเดือนพนักงาน ที่รวมค่าใช้จ่ายในปางช้างต่อเดือน เดือนละ 3 ล้านบาท แต่ปางช้างมีรายได้ประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาทเท่านั้น และยังได้รับข่าวร้ายอีกเรื่องหนึ่งคือมีหนังสือให้เร่งรัดในการโอนอาคารพาณิชย์บริเวณประตูท่าแพ ที่ทางปางช้างแม่สาได้ประกาศขายอาคารพาณิชย์ เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในปางแม่สา โดยผู้ที่ซื้อได้วางมัดจำมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาในเรื่องโอนอาคารพาณิชย์ เพราะผู้จัดการมรดกร่วมไม่ให้ความร่วมมือไปดำเนินการโอนอาคารพาณิชย์ เธอเพิ่งได้รับเอกสารในการเร่งรัดการโอนเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา


“อยากพูดคุยเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับปางช้างแม่สา ซึ่งเธอได้ทำในสิ่งที่ต้องทำมาตลอดเกือบ 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งเงินมาจากที่อื่น รวมไปถึงการแปลงทรัพย์สินเพื่อที่จะนำมาต่อยอดและบริหารปางช้าง เธอในฐานะลูกสาวทายาทรุ่นที่ 2 ที่มาพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่ว่าเราสิ้นหวัง หรือไม่มีหวัง เรามีหวังในการที่จะพึ่งคนอื่น พึ่งสังคม หรือพึ่งเจ้าหน้าที่ที่เขามีอำนาจ ในการสั่งการให้เราสามารถจะจัดการในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ต่อไป” นางอัญชลี กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News