สังคม

'สาธารณสุขอุบลฯ' แจง ด.ญ. วัย 13 ปวดขาช็อกดับ เกิดจาก 'โรคฉี่หนู'

โดย nut_p

1 ก.ค. 2566

672 views

สาธารณสุข จ.อุบลราชธานี แถลงกรณี ด.ญ. วัย 13 ปี ปวดขาช็อกดับ แม่คาใจลูกสาวอาจเสียชีวิตจากยาของหมอ หมอชี้แจงสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากโรคฉี่หนู



จากกรณีนางนันทพร อายุ 32 ปี ชาวบ้านสำโรง ต.ตาลสุม อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี โวยโรงพยาบาล รักษาลูกสาว วัย 13 ปี ที่ปวดขาจนต้องไปพบแพทย์ช่วยรักษา แต่สุดท้ายตรวจพบมีเกล็ดเลือดต่ำจนเกิดอาการช็อกเกร็งเสียชีวิต อยากให้หมอชี้แจงสาเหตุที่ลูกเสียชีวิต เพราะก่อนหน้ายังมีอาการดี ๆ ไม่มีโรคประจำตัว



ต่อมาเมื่อช่วงบ่าย นางนันทพร พร้อมด้วยสามี เดินทางไปยังกลุ่มงานกฎหมายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบมาตรฐานของแพทย์พยาบาลที่ทำการรักษาลูกสาวเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่



โดยทางเจ้าหน้าที่กลุ่มงานกฎหมาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการสอบถามเหตุการณ์และทำบันทึกคำร้องทุกข์ของนางนันทพร เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชา ในการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหากพบว่า มีการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นจะประสานโรงพยาบาลตาลสุม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่เข้าอำนวยความสะดวกในการยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาตามมาตรา 41



ต่อมา ในวันเดียวกัน นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ เด็กหญิง ลรากรณ์ สิงหธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นโดยเด็กหญิงมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตาลสุม อำเภอตาลสุม ด้วยอาการปวดขา ทางแพทย์ได้ทำการซักประวัติเบื้องต้นทราบว่า มีการสอบในวิชายืดหยุ่นที่โรงเรียนแล้วเกิดอาการปวดขา



แต่จากการตรวจวัดสัญญาณชีพพบว่า ชีพจรและความดันสูงผิดปกติ มีไข้ 39.5 มีจ้ำเลือดที่ขา ฉี่ไม่ออก จึงได้ทำการเจาะเลือด แสดงผลออกมาว่ามีเด็กหญิงมีเกร็ดเลือดเหลือ 4 หมื่น จากปกติประมาณ 1 แสน แต่มีเม็ดเลือดขาวสูง บ่งบอกของการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดก็ได้ แพทย์ให้ยาฆ่าเชื้อแบบคลุมไว้เป็นการเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานส่งตัวไปยังโรงพยาบล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้



เมื่อเด็กหญิงมาถึงโรงพยาบาล 50 พรรษา ได้มีการตรวจรักษาตามขั้นตอน ในขณะนั้นอาการของเด็กหญิงแย่ลง จนถึงมีการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง พบว่ามีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดบริเวณ ขา แขน ไตวาย ผลเลือดผิดปกติ ทำให้นึกโรคฉี่หนู แต่การวินิจฉัยโรคที่ชัดเจนจะต้องส่งเลือดตรวจ แบบ PCR แต่สำหรับเด็กหญิง ไม่ได้มีการส่งตรวจ เพราะขณะนั้นมีอาการแย่ลง ต้องทำการช่วยชีวิตและเสียชีวิตในที่สุด



นายแพทย์ธีระพงษ์ กล่าวอีกว่าเรื่องประวัติที่มีการให้เรื่องของการสอบการยืดหยุ่นของร่างกายแล้วปวดขา ทำให้ยังไม่มีการนึกถึงเรื่องของโรคฉี่หนู แต่ด้วยอาการไข้ ปวดขา ผลเลือดที่ผิดปกติทำให้มั่นใจว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดแน่นอนทางโรงพยาบาลต้นทางจึงได้ให้ยาฆ่าเชื้อคลุมไว้ก่อนรวมทั้งโรคฉี่หนู จากการสรุปทั้งประวัติอาการผลเลือดทั้งหมด เด็กหญิงเสียชีวิตจากโรคฉี่หนู



สำหรับสถานการณ์โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซีส ในจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซีส 1,265 ราย เสียชีวิต 12 ราย (อัตราป่วย 1.9 ต่อประชากรแสนคน) จังหวัดอุบลราชธานี พบผู้ป่วย 36 ราย ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต คิดเป็นอัตราป่วย 1.9 ต่อประชากรแสนคน



ในปี 2565 พบผู้ป่วย 299 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในช่วงน้ำท่วม เดือนตุลาคม 2565 ในปี 2566 อำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ ม่วงสามสิบ 11 ราย , สำโรง 8 ราย ,เขื่องใน 4 ราย ส่วนอำเภอตาลสุมยังไม่มีรายงานผู้ป่วย กลุ่มอายุที่ป่วยมากสุดคือ กลุ่ม 20 - 50 ปี คิดเป็นร้อยละ 76 รองลงมาคือกลุ่ม 51-65 ปี ร้อยละ 15 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำในทุ่งนา ที่ไร่สวน ไม่สวมรองเท้าบู๊ท ข้อแนะนำประชาชนในการป้องกันโรค

1. แนะนำให้สวมรองเท้าชู้ท ทุกครั้ง เมื่อลงทำนา ไปไร่สวน ป้องกันการติดเชื้อ

2. หลังลงแช่น้ำในทุ่งนา ให้รีบอาบน้ำ ฟอกสบู่ทันที หากมีบาดแผลให้ปิดแผลก่อนลงสัมผัสน้ำ

3. หากมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องขา ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจรักษา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

คุณอาจสนใจ

Related News