สังคม
สังคมเสียงแตก หลังปรากฏการณ์ ‘หยก’ #saveหยก หรือ #saveเตรียมพัฒน์
โดย paweena_c
16 มิ.ย. 2566
464 views
สังคมเสียงแตก หลังปรากฏการณ์ ‘หยก’ #saveหยก หรือ #saveเตรียมพัฒน์
จากกรณี ‘หยก’ นักเรียนชั้น ม.4 ที่แต่งชุดไปรเวท ย้อมผม ปีนเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ทำเอาชาวเน็ตเสียงแตก ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในวิธีการเรียกร้อง และการจัดการหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือวันที่ 13 มิถุนายน 2566 หยกโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าว่า โรงเรียนเรียกเข้าไปคุยด้วยหลังเลิกเรียน จากนั้นถูกครูถามว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงโดนตาม สุดท้ายรอง ผอ.บอกว่า จะคืนค่าเทอมให้ และครูพูดว่า “จำไว้นะว่าเธอคือบุคคลภายนอก”
วันต่อมา (14 มิ.ย 66) หยกไลฟ์เฟซบุ๊กส่วนตัว เผยแพร่เหตุการณ์หน้าโรงเรียน ที่ประตูรั้วถูกปิดไว้ไม่ยอมให้หยกเข้าไปข้างใน เกิดการโต้เถียงกับยามที่เฝ้าประตูสักพัก หยกตัดสินใจปีนรั้ว และเข้าไปภายในโรงเรียนได้สำเร็จ
หลังจากที่เรื่องหยกถูกให้ออกจากโรงเรียนเผยแพร่ไป ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า จากรายงานของโรงเรียน หยกยังคงสภาพความเป็นนักเรียนของโรงเรียนอยู่ ยังไม่มีการให้ลาออก และยืนยันว่าหยกยังเข้าเรียนได้ตามปกติ
กลับกัน ‘ปรีชา จิตรสิงห์’ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แถลงว่าหยกไม่ได้มีสภาพเป็นนักเรียนตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้มามอบตัวให้สมบูรณ์ ซึ่งเหตุที่หยกไม่สามารถมามอบตัวในวันที่ 2 เมษายน 2566 ได้ เพราะยังถูกควบคุมตัวในสถานพินิจในคดีมาตรา 112
ในแถลงการณ์ระบุว่า โรงเรียนก็ได้รับรายงานตัวหยกไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิ์ในการศึกษาต่อ โดยตั้งเงื่อนไขว่า ให้ผู้ปกครองมามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียนจะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566
หยกไลฟ์สดหน้าโรงเรียนอีกครั้ง (15 มิ.ย 66 ) พร้อมสมาชิกกลุ่มทะลุวังอีก 3 คน หนึ่งในนั้นมี ‘บุ้ง’ ผู้ปกครองของหยกในปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถติดต่อพ่อแม่ได้ตั้งแต่เข้าสถานพินิจไป ซึ่งมีการจ่ายค่าเทอมและรับมอบตัวเรียบร้อย โดยโรงเรียนรับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด
“ถ้าโรงเรียนไม่พอใจเรื่องการแต่งกายก็อยากพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป แต่ยืนยันไม่แต่งชุดนักเรียน เพราะมองว่าเป็นอำนาจนิยม” หยกให้สัมภาษณ์สื่อ ก่อนปีนรั้วเข้าไปในโรงเรียนตอน 9 โมงเช้า
ล่าสุดวันนี้ (16 มิ.ย 66) หยกไปโรงเรียนแต่รั้วยังปิด จึงพยายามปีนรั้วเข้าไปภายในโรงเรียน แต่ถูกครูขู่ว่าจะแจ้งความข้อหาบุกรุก และขวางประตูไว้ หยกจึงกระโดดเข้าทางหน้าต่างในเวลา 07.40 น.
เรื่องราวดังกล่าว สร้างความสนใจให้เกิดการแสดงความเห็นในโซเชียลกันหลากหลาย มีทั้งฝั่งที่สนับสนุน ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย และฝั่งที่ตั้งคำถามกับเหตุการณ์นี้
ฝั่งที่ออกมาสนับสนุนหยก อย่าง ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ นักเคลื่อนไหวสังคม โพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า อดเสียดายไม่ได้ เพราะถ้ายังเป็นนักเรียนอยู่ก็จะใส่ชุดไปรเวท ย้อมผม ไปโรงเรียนแบบหยก พร้อมทั้งให้กำลังใจ บอกว่า “คนรุ่นใหม่ควรกล้าหาญ กล้าทำอยู่เสมอ ผู้ใหญ่ควรเป็นเพื่อนที่ดีรับฟังโอบอุ้ม”
‘เนติวิทย์’ กล่าวเพิ่มเติมในเฟซบุ๊ก ย้ำจุดยืนในการสนับสนุนหยกว่า “หยกและคนอื่นในยุคนี้ ไม่แค่เจอการตีตราแต่เจอคดีความต่างๆ ด้วย ความรู้สึกภายใน ความกดดันที่เจอคงสาหัสกว่าผมมากมายนัก ควรแล้วที่ผมต้องสนับสนุนพวกเขา เป็นกำลังใจและไม่ด่วนตัดสินชี้โทษ ผมไม่ควรโตไปเป็นคนแบบตอนนั้นที่เอาแต่เพ่งโทษผม (และเพื่อนๆ) แต่ควรเหมือนผู้ใหญ่จำนวนน้อยที่โอบอุ้มเข้าใจให้โอกาส”
ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับหยกอย่าง หม่อมปลื้ม ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก บอกว่า สถาบันการศึกษาก็มีกฏของสถาบัน อยู่ในโรงเรียนก็ต้องมีกฎระเบียบของสถานการศึกษานั้น ๆ “รณรงค์ให้เด็กปฏิบัติตามกฏระเบียบสถานการศึกษาจะดีกว่า ไม่ใช่วันวันเอาเเต่ให้ท้ายนักเรียนเพื่อให้ตนเองดูเหมือนเป็นคนที่เชียร์เรื่องสิทธิเสรีภาพ”
‘โบว์’ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของหยก พร้อมพูดถึงนักการเมืองบางคนว่า แทนที่จะเห็นปัญหาหนักของการขาด “ผู้ปกครอง” และเร่งช่วยเหลืออย่างเป็นมืออาชีพ กลับส่งเสริมให้ท้ายพฤติกรรมจักรวาลหมุนรอบตนเองนี้ต่อไป เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
และหลากหลายความเห็น ทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของหยก ขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนที่เป็นนักเรียนและศิษย์เก่าของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ออกมาให้กำลังใจครู ย้ำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดการเมือง ผ่านแฮชแท็ก #saveเตรียมพัฒน์
ในส่วนฝั่งที่ตั้งคำถามกับเหตุการณ์นั้น ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ หรือ บ.ก.ลายจุด แสดงความเห็นว่า สิ่งที่หยกทำ เป็นการกระทำบนเรือนร่างของตนเอง ไม่ได้ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าสิ่งที่เธอทำขัดต่อกฎเกณฑ์ของโรงเรียน และครูยึดกฎเกณฑ์มากกว่ายึดหลักสิทธิมนุษยชนของนักเรียน
“การที่หยกถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะสวมชุดเด็กผู้หญิงปกติและย้อมผม จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ปกติและสิ่งใดผิดปกติกันแน่”
‘สุนัย ผาสุก’ ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งคำถามถึงการช่วยเหลือ ในการรักษาสิทธิ์การศึกษาต่อของหยก “ถ้าจริงจังกับ #saveหยก ต้องถามว่าโรงเรียน และผู้ที่ดูแล #หยก ทำอะไรไปบ้างเพื่อรักษาสิทธิ์ในการรับการศึกษาของ ซึ่งไม่สามารถเอาผู้ปกครองตัวจริง (แม่) มาทำเอกสารมอบตัวลงทะเบียนเรียนได้ตามระเบียบ นี่เป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย อย่าหลงประเด็น”
ฝั่งพรรคการเมือง ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ กรรมการบริหารก้าวไกล ถูกถามว่า “save เด็กเลว จะดีหรือ?” อมรัตน์ตอบว่า แทนพูดแต่เรื่องดีเลว ชวนมาหาสาเหตุ และเหตุผลที่ทำให้เยาวชนคนหนึ่ง เลือกใช้วิธีนี้เพื่อประท้วงสังคมอำนาจนิยม จะมีประโยชน์กว่า