สังคม

Pride Month ไม่ใช่แค่พาเหรด : เปิดข้อเรียกร้องเพื่อรองรับความหลากหลาย

โดย paweena_c

7 มิ.ย. 2566

197 views

ปีนี้ Bangkok Pride 2023 เข้ามาสร้างสีสันให้ Pride Month ของประเทศไทย รวมถึงนำประเด็นการเรียกร้องเพื่อสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ มาตอกย้ำความสำคัญ

Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจในตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หัวเมืองใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกจัดงาน Pride Parade เพื่อเฉลิมฉลองความแตกต่างกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงกรุงเทพฯ ที่จัดงาน Pride Parade เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

โดยปีนี้มาในชื่อ Bangkok Pride 2023 ที่เปลี่ยนชื่อจากปีที่แล้ว Bangkok Naruemit Pride 2022 เพราะมีเป้าหมายในการขอจดลิขสิทธิ์จัด World Pride ภายในปี ค.ศ. 2028 โดยงาน Bangkok Pride 2023


ปีนี้มีผู้เข้าร่วม 50,000 คน เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 20,000 คน มีผู้เข้าร่วมเดินตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ อย่างคับคั่ง รวมถึงดารา นักแสดงและศิลปินอย่างอิงฟ้า, ชาล็อต, 4MIX, PROXIE, ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร, มดดำ-คชาภา ตันเจริญ และคนอื่นๆ รวมถึงคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, คุณแพรทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ร่วมงานแต่ละคนเรียกได้ว่าแฟชั่นจัดเต็มเข้าธีมมาทุกคน

นอกจากการเดินขบวนก็มี Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ที่จัดคอนเสิร์ตและแฟชั่นโชว์จาก Drag Queen ที่แสดงความภาคภูมิใจในความคิดสร้างสรรค์จากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความสนุกและเป็นตัวของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม Pride Month ปีนี้ไม่ได้มีแค่ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเจออุปสรรคในการดำเนินชีวิต

แนวคิดของ Bangkok Pride 2023 คือ Beyond Gender เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด แจง 4 ประเด็นที่ต้องการนำเสนอในปีนี้ ได้แก่สมรสเท่าเทียม, การรับรองเพศสภาพ, สิทธิของ sex workers และสวัสดิการถ้วนหน้า

ในส่วนของสมรสเท่าเทียมนั้นได้ถูกเอาเข้าไปในสภาและรอรัฐบาลใหม่พิจารณา ประเด็นการรับรองเพศสภาพคือ พระราชบัญญัติชื่อบุคคลแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 อนุญาตให้คนข้ามเพศเปลี่ยนชื่อแต่ไม่สามารถขอเปลี่ยนเพศสภาพตามกฎหมายได้ ทำให้คนข้ามเพศมีเอกสารที่ระบุเพศสภาพที่ต่างจากอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของตน ทำให้คนข้ามเพศรู้สึกอับอาย

การเรียกร้องประเด็นนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในการรองรับสิทธิของคนข้ามเพศ โดยต้องแก้ปัญหาด้านการรับรองเพศสภาพอย่างการรับรองความเป็นหญิง ความเป็นชาย และเพศอื่นๆ และอีกปัญหาคือการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากเด็กหญิงเป็นเด็กชาย จากนางสาว นาง เป็นนาย หรือการใช้คำนำหน้านามเป็น Gender Neutral หรือ Gender X

ในส่วนของสิทธิของ sex workers อยากให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อคุ้มครอง sex workers ให้เป็นพนักงานบริการในฐานะลูกจ้างในสถานบริการ ให้เป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ เหมือนภาคแรงงานทั่วไป ไม่ต้องขึ้นทะเบียนเฉพาะ

ประเด็นสุดท้ายอย่างสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและสวัสดิการสุขภาพให้เท่าเทียมกับทุกคน เช่น การรับฮอร์โมนและศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศในสถานบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาลของรัฐ และการดูแลเรื่องโรค HIV การดูแลวัคซีน PCV ที่มีมาตรฐาน ปราศจากการเลือกปฏิบัติและอยู่ในการคุ้มครองของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ประเด็น 4 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมาย พรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งในปีนี้ได้นำเสนอนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศ

นโยบายของพรรคก้าวไกลคือเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในชื่อร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเปลี่ยนคำจาก อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะ ‘ชายและหญิง’ เป็น ‘บุคคลทั้งสอง’ และเปลี่ยนคำว่า ‘สามีภริยา’ เป็น ‘คู่สมรส’

นโยบายต่อไปคือรับรองเพศ คำนำหน้าตามสมัครใจ โดยการเปลี่ยนระบบโครงสร้าง 2 เพศเพื่อให้กฎหมายการคุ้มครองครอบคลุมต่อคนทุกเพศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การคุ้มครองคนทุกเพศรวมไปถึงการไม่แสดงคำนำหน้าในบัตรประชาชน

นโยบายอีกอันคือการขจัดการเลือกปฏิบัติที่กีดกัน จำกัดสิทธิ เสรีภาพเพราะความแตกต่างของคนไม่ว่าจะเรื่องเพศ เพศสภาพ เพศวิถี สุขภาพ หรือเหตุใดก็ตาม

นโยบายของพรรคเพื่อไทยได้แก่การผลักดันนโยบายสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ, จัดเทศกาล Pride ระดับโลก ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของ LGBTQIA+ และสนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQIA+ ผ่านการทำคู่มือและแพลตฟอร์มการเรียนรู้

ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกิจกรรม Pride Month ว่าทางพรรคร่วมเดินรณรงค์ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของ LGBTQIA+ และเดินหน้ากิจกรรมส่งเสริมร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ และผลักดันการดูแลป้องกันการคุกคามทางเพศกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการต่อต้านการกดเหยียดอัตลักษณ์ทางเพศ ผ่านการออกแบบหลักสูตรให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น สวัสดิการถุงยางอนามัย ห่วงอนามัย

นโยบายที่ถูกกล่าวขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะถูกนำมาทำให้เป็นจริงหากการตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวปราศรัยในงาน Bangkok Pride 2023 ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม และพ.ร.บ.คู่ชีวิตยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ วิปรัฐบาลยังมีมติให้ผ่านทั้ง 2 กฎหมาย

ย้ำว่าจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ สมรสเท่าเทียมผ่านแน่นอนภายใน 100 วัน เพราะเป็นวาระร่วมกันที่บันทึกลงใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว รับรองอัตลักษณ์ทางเพศและสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

พิธาทิ้งท้ายไว้ว่าเส้นทางเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในไทยอาจไม่ราบรื่น แต่มันจะคุ้มค่าแน่นอน

เรื่องราวของ Bangkok Pride 2023 ที่แม้จะเต็มไปด้วยความสนุกสนานแต่ยังแฝงไปด้วยการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับ LGBTQIA+ ผ่าน 4 ประเด็นหลักอย่างสมรสเท่าเทียม, การรับรองเพศสภาพ, สิทธิของ sex workers และสวัสดิการถ้วนหน้า

ซึ่งประเด็นสมรสเท่าเทียมและการรับรองเพศสภาพถูกนำมาเน้นย้ำผ่านการพูดถึงโดยคุณพิธาในงาน Bangkok Pride 2023 ที่ตอกย้ำว่าสิทธิ์ความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยยังต้องมีการเรียกร้องอีกยาวไกล แต่การตั้งรัฐบาลใหม่ก็เป็นความหวังที่ทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยจะได้รับสิทธิ์ความเท่าเทียมที่ควรจะมีเสียที

อ้างอิง:
https://prachatai.com/journal/2023/06/104444
https://www.thaipbs.or.th/news/content/328301
https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-analysis/562937
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2698984
https://www.thairath.co.th/news/politic/2699368
https://www.youtube.com/watch?v=XjQbCreAyF0


แท็กที่เกี่ยวข้อง  PrideMonth ,Bangkok Pride 2023 ,สมรสเท่าเทียม ,LGBTQIA+

คุณอาจสนใจ

Related News