สังคม

'แพทองธาร-เศรษฐา' ยินดี 'สมรสเท่าเทียม' ประกาศใช้เป็นกม. ชี้เป็นก้าวสำคัญ สร้างความเสมอภาคในไทย

โดย petchpawee_k

25 ก.ย. 2567

100 views

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแล้ว พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม “นายกฯแพทองธาร-เศรษฐา“ ยินดี สมรสเท่าเทียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย ชี้เป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย ความเสมอภาคและเท่าเทียมเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.67)  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  โพสต์ข้อความแสดงความยินดีหลัง ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 24 พ.ศ.2567) โดยระบุว่า

“แด่ทุกความรัก… ยินดีกับความรักของทุกคนค่ะ #LoveWins ❤ ขอบคุณการผลักดันจากทุกภาคส่วน เป็นการต่อสู้ร่วมกันของทุกคนค่ะ #สมรสเท่าเทียม”

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีก็โพสต์ข้อความแสดงความยินดีเช่นกัน  โดยระบุว่า “อีกก้าวสำคัญของสังคมไทย กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วครับ ความเสมอภาคและเท่าเทียมเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ความหลากหลายทางเพศสภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่เสียทีครับ ยินดีด้วยครับ”

ส่วนเพจพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความระบุว่า  “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

วันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ความว่า

 “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567’

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

หลังจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี  มีการหยิบยก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสภาฯ อีกครั้ง จนเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง

18 มิ.ย. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง

ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันอย่างสมบูรณ์”

-------------------------------

ขณะที่ ‘พรรคประชาชน’ โพสต์ ร่วมเฉลิมฉลองกับ #สมรสเท่าเทียม ก้าวสำคัญของสังคมไทย โดยมีข้อความระบุว่า 

“ทุกการต่อสู้ของประชาชน นำมาสู่วันนี้ #สมรสเท่าเทียม ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันข้างหน้า หรือวันที่ 22 มกราคม 2568

พรรคประชาชนร่วมเฉลิมฉลองกับก้าวสำคัญของสังคมไทย ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมต่อสู้บนเส้นทางนี้ ก้าวต่อไปด้วยกันเพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนมีสิทธิ์ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน“


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/-qSMTsPNveY



คุณอาจสนใจ

Related News