สังคม
รองผอ.รพ.บุรีรัมย์ แถลงยอมรับผิดล่าช้าทำน้องไส้ติ่งแตกเสียชีวิต ยันไม่มี 'เคสพิเศษ'
โดย parichat_p
6 มิ.ย. 2565
580 views
วันนี้ (6 มิ.ย.65) ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นายแพทย์รักเกียรติ ประสงค์ดี รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เปิดโต๊ะแถลงตามที่ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์
กรณี ด.ช.กิตติศักดิ์ หรือน้องต้นน้ำ กรมไธสง อายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ทำให้พ่อแม่เด็กคือนายสมบูรณ์ กรมไธสง อายุ 42 ปี และนางน้ำฝน เทพพิทักษ์ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61/2 ม.6 ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ สองสามีภรรยา ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบุหมอปล่อยเวลาล่วงเลยนาน 2 วันหลังเข้าทำการรักษา แต่หมอไม่ยอมผ่าตัด ทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดว่าไส้ติ่งอักเสบ
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสสังคมที่หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยถึงแนวทางการรักษาของหมอ โดยเฉพาะคำบอกเล่าของพ่อ ที่บอกว่าพนักงานเปล ระบุมีเคสพิเศษ 2 รายตัดหน้าผ่าตัดไปก่อน
นายแพทย์รักเกียรติ ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า น้องต้นน้ำ มีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ 1 วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง หมอระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบ แล้วส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ แพทย์ทำการตรวจประเมินซ้ำ วินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบ เช่นเดียวกัน
โดยได้เซ็ตเวลาผ่าตัดไว้ที่ 17.00 น. วันที่ 29 พ.ค.ต่อมาพบว่าอาการของน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง 163 น้ำหนัก 83 กก.อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก
ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด 23.30 น.แต่ในขณะนั้นห้องผ่าตัดซึ่งมี 3 ห้อง ห้องแรกมีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ ทั้ง 3 ห้อง ห้องแรกผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า แพทย์ต้องการตัดต่อลำไส้
จากนั้นต้องผ่าตัดคนไข้ที่มารอก่อนหน้านี้ เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยรายที่ 2 ผ่าตัดเสร็จประมาณ ตี 2 ของวันที่ 30 พ.ค.ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่ มีแผลเปิด หมอต้องเร่งผ่าตัด มี 2 ราย
อีกรายหนึ่งช่วงใกล้จะถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดอีกห้อง ต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่การประสานงานของหมออาจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปล เข็นน้องต้นน้ำเข้าไปห้องผ่าตัด
จากการประเมินของหมอ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้เด็กรออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้คือน้องต้นน้ำกลับไปที่ห้องก่อน
ประเด็นที่ผู้ปกครองน้องติดใจว่า”มีเคสพิเศษ”แทรกคิวของน้องหรือไม่ จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสพิเศษใดๆในโรงพยาบาล ทุกเคสสามารถที่จะมีหลักฐานประกอบและเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้านี้
ต่อมาแพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัด พบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบ ประมาณ 100 ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น.ใช้เวลาในการผ่าตัด 45 นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งเข้ารักษาที่ห้อง ไอซียู และหัวใจน้องหยุดเต้นเมื่อเวลา 02.25 น.ของวันที่ 31 พ.ค.
ทั้งนี้โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องก่อนเป็นอันดับแรก และโรงพยาบาลยอมรับว่าเรารักษาที่ล่าช้า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ทางคณะทีมรักษารวมถึงคณะการเยียวยา และการให้ข้อมูล การเยี่ยมบ้านคนไข้ ถือว่าล่าช้าไปมาก
หลังจากนี้จะต้องไปขอขมาผู้ปกครองเด็กในเร็วๆนี้ ส่วนการเยียวยา จะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึก ว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการทางสาธารณสุข ได้มากน้อยแค่ไหน