สังคม

โมเดล บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ ความสำเร็จในการจัดการน้ำชุมชน รับมือเอลนีโญ

โดย panwilai_c

16 ก.ย. 2566

251 views

ปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเอลนีโญ ที่ทำให้สภาวะอากาศแปรปรวน แม้ว่าจะมีน้ำหลากบางช่วง และบางพื้นที่ แต่คาดการณ์ตลอดฤดูกาลฝน จะมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย กอนช.จึงเตือนหลายพื้นที่บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม แต่สำหรับชุมชนบ้านลิ่มทอง และอีก 5 ตำบลในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโคคา โคลา ประเทศไทย เข้าไปสนับสนุนชาวบ้านให้บริหารจัดการน้ำตามองค์ความรู้ของชาวบ้านเป็นหลัก ทำให้ที่นี่แก้ปัญหาทั้งภัยแล้ง และน้ำหลากท่วมได้อย่างดี



"บุรีรัมย์ ตำน้ำกิน" เคยเป็นคำพูดขมขื่น เพื่ออธิบายความแห้งแล้ง ถึงขนาดต้องขุดดินทำบ่อน้ำ เรียกว่าบ่อน้ำสร้างเพื่อประทังชีวิต ชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในพื้นที่เคยเผชิญภัยธรรมชาติดังกล่าว



ปี 2549 ชุมชนบ้านลิ่มทอง ตัดสินใจหาทางออกจากภัยธรรมชาติ โดยร่วมกันศึกษาแผนที่ทางน้ำ และปัญหาภัยแล้งในหมู่บ้าน จนพบว่าชุมชน ตั้งอยู่ไหล่ของที่ราบสูง เสมือนแนวสันปันน้ำ ที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำฝน/ ทิศทางน้ำไหลจากแนวสันดังกล่าวผ่านหมู่บ้าน ไปลงลำมาศ ลำน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของที่นี่



ต่อมาปี 2550 ความของชุมชน ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ /มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ที่ให้ความรู้ทางวิชาการและงบประมาณ จนทำให้การจัดการน้ำเป็นรูปเป็นร่าง



จุดเด่นของที่นี่คือถนนน้ำเดิน เป็นถนนคอนกรีตผ่านหมู่บ้านที่สร้างให้เส้นกลางเอียงลึกลงเป็นรูปตัววี และขอบถนนมีคันปูนสูงขึ้น เพื่อให้น้ำที่ไหลจากบ่อดักตะกอนไหลผ่านหมู่บ้านโดยใช้ถนนคอนกรีต ที่เรียกว่าถนนน้ำเดิน ปลายทางถนนน้ำเดิน ก็คือบ่อกักเก็บ เสมือนเป็นแก้มลิงรับน้ำของหมู่บ้าน



รจรินทร์ รังพงษ์ เคยทำงานโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ชลบุรี แต่เธอและสามีตัดสินใจกลับคืนบ้านเกิด เพราะสวน และไร่นาของเธอมีน้ำใช้ตลอดปีแล้ว



ความสำเร็จของแนวทางบริหารจัดการน้ำบ้านลิ่มทอง ขยายโครงการออกไปอีก 6 ตำบลในอำเภอนางรอง ครอบคลุมพื้นที่การเษตร 61,277 ไร่ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่กว่า 2 หมื่น 7 พันคน

คุณอาจสนใจ

Related News