สังคม

ผลักดันความเท่าเทียม 'เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย' จัดเสวนา ความก้าวหน้ากฎหมายรับรองเพศสภาพ

โดย chawalwit_m

1 ธ.ค. 2567

146 views

วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อรำลึกถึงการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ ด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจาก อคติทางเพศ ที่นำไปสู่ การเลือกปฏิบัติ การตีตรา และความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดเสวนา "เรื่องเล่า : ความก้าวหน้ากฎหมายรับรองเพศสภาพในประเทศไทย" ซึ่งล่าสุดมีร่างกฎหมาย 3 ฉบับ จากภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ และ ภาคการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ยังมีความแตกต่างในรายละเอียด และข้อกังวลอีกหลายปัจจัย ก่อนผลักดันให้เกิดกฎหมายรับรอง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม


ตัวแทนจากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนได้กล่าวไว้อาลัยถึงกลุ่มเพื่อนบุคคลข้ามเพศ ที่จากไปด้วยสาเหตุของความรุนแรงจากอคติทางเพศและความไม่เข้าใจ ของคนในสังคม จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยหนึ่งในสาเหตุดังกล่าวคือระบบกฎหมายที่ไม่รองรับสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างครอบคลุม เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายรับรองบุคคลตามเพศกำเนิดเท่านั้น


มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้จัดเวทีเสวนา "เรื่องเล่า : ความก้าวหน้ากฎหมายรับรองเพศสภาพในประเทศไทย" ร่วมกับคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย สถานทูตสหรัฐอเมริกา และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP โดยตอนนี้มีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 ฉบับ


ได้แก่ (ร่าง) พระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ ของ ภาคประชาชน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรับรองเพศ โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ (ร่าง) พระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคล ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากพรรคการเมือง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนร่าง พรบ.ภาคประชาชน ระบุว่าแม้ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะมีหลักการและเหตุผลรับรองบุคคล ที่มีความหลากหลายทางเพศในทิศทางเดียวกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด


เช่น เงื่อนไขอายุ การแสดงเจตจำนงในการเลือกเพศ รวมถึงสิทธิของบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยา ที่หลากหลาย หรือ กลุ่ม (Intersex) เป็นต้น

ขณะที่สาระสำคัญของร่างฉบับประชาชนทั้งหมดได้ผ่านการทำงานร่วมกันจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนักกฎหมาย แพทย์ และตัวแทนกลุ่มอัตลักษณ์ ที่เป็นเจ้าของสิทธิโดยตรง


ส่วนสาระสำคัญในร่างของพรรคประชาชน รัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ระบุว่า พรบ.ฉบับนี้จะไม่กระทบการใช้อำนาจของคำนำหน้าชื่ออื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ กำหนดเพศที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์


กรณีบุคคลเป็นอินเตอร์เซ็กซ์สามารถเลือกว่าจะระบุเพศหรือคำนำหน้าได้ และอาจระบุเป็นอินเตอร์เซกได้ ซึ่งเมื่ออายุครบ 18 ปี ก็สามารถขอระบุเพศและคำนำหน้านาม หรือ แก้ไขตามอัตลักษณ์เพศของตัวเองได้ โดยหลักการคือให้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์สอดค้ลองกับการดำเนินชีวิต และตรงกับความเป็นจริงเสมอ


แต่ล่าสุดร่างพรบ.ของพรรคประชาชนได้ถูกสภาปัดตกลงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และ อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อเสนอเข้าพิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่ร่างของ พม. มีความแตกต่างในเรื่องของอายุ และ ประโยชน์ของเด็ก ในการเลือกอัตลักษณ์เมื่ออายุครบกำหนด หรือ การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ตามโครงสร้าง ครอบคลุมการเลือกเพศโดยตัวบุคคลตามเจตจำนง และห้ามการผ่าตัดเลือกเพศให้กับกลุ่มคนอินเตอร์เซ็กซ์ จนกว่าจะอายุเกิน 18 ปี


ส่วนความกังวลกรณีหากกฎหมายฉบับนี้ถูกประกาศใช้แล้วอาจเกิดปัญหาการหลอกลวง การเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร งบประมาณค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และความไม่ครอบคลุมของกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา สุขสม ผู้ศึกษากฎหมายการรับรองความหลากหลายทางเพศ เปิดเผยว่าปัจจุบัน มี 3 ประเทศที่มีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ คือ อาร์เจนตินา มอลตา และไอซ์แลนด์ ที่มีความคุ้มครองทั้งกลุ่ม transgender ,intersex และ non-binary ที่สามารถแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ได้ทันทีเมื่ออายุถึงเกณฑ์ โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น การบังคับทำหมัน การหย่า หรือใบรับรองแพทย์ กำหนดเพศเป็น 3 กลุ่มคือ

F - feminine M - masculine และ X ไม่ประสงค์ระบุ นอกจากนี้ยังมีอีก 80 ประเทศทั่วโลกที่มีการรับรอง โดยไม่พบความรุนแรงหรือปัญหาตามที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่ใช่การเพิ่มสิทธิ แต่เป็นการให้สิทธิตามที่คนหลากหลายทางเพศ ควรมีแต่ไม่เคยเข้าถึง


ปัจจุบันหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนหลักกฎหมายให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเพศที่ระบุชัดเจนว่าให้มองความเป็นเพศมากกว่าอวัยวะ โดยพิจารณาจากปัจจัยภายในและภายนอกของบุคคลรวมถึงสังคม


ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านกฎหมายให้คุ้มครองความหลากหลายทางเพศ แล้ว 2 ฉบับ คือ กฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติ ในรูปพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และที่ยังขาดในตอนนี้ คือ กฎหมายรับรองเพศสภาพที่ยังต้องอาศัยการเปิดรับ จากทุกภาคส่วนในสังคม

คุณอาจสนใจ

Related News