สังคม

ตร.ติวเข้ม ทำคดีภายใต้ พ.ร.บ.อุ้มหาย เพื่อความรัดกุม โปร่งใส

โดย panwilai_c

20 พ.ค. 2566

147 views

หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย เรื่องการออก พ.ร.ก. ขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายออกไป ด้วยเหตุผลข้อจำกัดเรื่องกล้องเเละอุปกรณ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยให้มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้วันนี้หลายหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน-จับกุม เร่งจัดทำระบบ อบรมเเละทำความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน



เริ่มกันที่ความเคลื่อนไหวของตำรวจ วันนี้ที่ห้องประชุมชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ และ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น วิทยากรให้ความรู้แก่ข้าราชการตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ตำรวจทุกนาย ศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย



ทางตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้จัดอบรม พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ข้าราชการในสังกัด มีความรู้ความเข้าใจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ รอบคอบ รัดกุม โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน



ส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายปกครอง หลายจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ จากการถูกซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยจัดเวรยามคอยรับเรื่องร้องเรียนจากประขาชน กรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ทำร้ายร่างกาย เรียกรับผลประโยชน์ เเละการกระทำป่าเถื่อนที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะถูกคบคุมคุมตัว เช่นเดียวกับฝ่ายอัยการ ก่อนหน้านี้ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ มีพยักงานอัยการคอยให้คำปรึกษาเเละรับเรื่อง 24 ชั่วโมง



ส่วนเเนวทางการปฏิบัติ วันนี้ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนเเละนิติการ กรมการปกครอง โดยนายรัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ได้ทำหนังสือเเจ้งฝ่ายปกครองทุกท้องที่ เรื่อง "ขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายทรมานและอุ้มหาย เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองทำการจับกุมบุคคล จากนี้เป็นต้นไป ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้



1. ทำการบันทึกภาพและเสียงในขณะเริ่มทำการจับกุมบุคคล โดยบันทึกอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน



2. ขณะควบคุมตัวบุคคลที่ถูกจับกุมได้แล้ว ให้ชุดจับเข้าระบบของหน่วยงานเพื่อแจ้งการควบคุมไปยังอัยการและ นายอำเภอ โดยใส่ข้อมูลตามที่ระบบกำหนด



3. ควบคู่กับตอนทำบันทึกการจับกุม ให้ทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมใน "แบบ ปท.1"ด้วย โดยไม่ต้องแจ้งหรือรายงานไปที่ใด เพียงเก็บไว้พร้อมให้ตรวจสอบหรือเปิดเผยต่อผู้มีส่วนได้เสียได้



4. เมื่อส่งตัวผู้ถูกจับให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว ถึงจะยุติการบันทึกภาพและเสียงได้ โดยไม่ต้องส่งไฟล์วีดีโอไปที่ใด แค่เก็บไว้พร้อมให้ตรวจสอบ และเก็บไฟล์ไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด



5. กลับเข้าระบบของหน่วยงานอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่า อัยการและหรือ นายอำเภอ ได้รับแจ้งตามข้อ 2. เรียบร้อยแล้วหรือไม่



เเม้กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้เเล้ว เเต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีอำนาจจับกุม ทั้งตำรวจเเละฝ่ายปกครอง ที่ยังติดขัดเรื่องกล้องเเละอุปกรณ์จัดเก็บไฟล์ เบื้องต้นทางผู้บังคับบัญชาทั้ง 2 หน่วยงาน เเก้ปัญหาด้วยการหมุนเวียนกันใช้งานไปก่อนชั่คราว ขณะที่บางคน เสนอปัญหาการใช้กล้องอาจเป็นอุปสรรคเเละอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน



เเต่ส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยเเละพร้อมปรับตัวรับปับข้อกฎหมาย โดยใช้โมเดลของต่างประเทศ คือใช้กล้องติดอุปกรณ์คาดหรือยึดไว้กับตัว ส่วนภาคประชาชนเเละผู้ที่ร่วมกันผลักดันกฎหมาย มองว่าการใช้กล้องในการทำงาน นอกจากจะช่วยลดปัญหาความรุนเเรง ยังช่วยลดการทุจริตจากเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินหรือต่อรองรีดเอาทรัพย์สินจากผู้ต้องหา เเลกกับปล่อยตัวเเละไม่ดำเนินคดี เพราะเมื่อกฏหมายฉบับนี้บังคับใช้ จะต้องรายงานผู้บังคับบัญชา นายอำเภอ เเละอันการทราบ เมื่อมีการจับกุมหรือควบคุมตัว

คุณอาจสนใจ

Related News