สังคม
กรมอุทยานฯ เดินหน้าโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 'คลองแม่ข่า' สู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่
โดย panwilai_c
12 ส.ค. 2567
223 views
คลองแม่ข่า เป็นอีกหนึ่งลำน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวอำเภอเมืองเชียงใหม่มายาวนาน แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าคลองแห่งนี้ ในอดีตเคยมีสภาพเสื่อมโทรม บางปีมีน้ำไม่พอใช้ และยังมีปัญหาคุณภาพน้ำไม่เหมาะกับการอุปโภค หลายภาคส่วนจึงร่วมกันปรับปรุง-พัฒนา จนตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม
และเนื่องในปีมหามงคลปีนี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงริเริ่ม "โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองแม่ข่า" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
โดยจัดทำฝายต้นน้ำ 720 ฝาย บนดอยสุเทพ-ปุย สนับสนุนเเหล่งน้ำต้นทุนให้คลองแม่ข่า เพื่อให้คลองสายนี้ รวมทั้งแม่น้ำสายหลักอื่น ๆ มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี
จากคลองที่เคยมีสภาพเสื่อมโทรม เเละเผชิญกับปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัจจุบันคลองแม่ข่าหรือน้ำแม่ข่า ซึ่งเป็นคลองโบราณสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คน เดินทางเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศ เป็นอีกหนึ่ง Unseen แห่งใหม่ที่ใคร ๆ ต่างก็เข้ามาเยี่ยมชม ถ่ายรูป-เช็คอินเป็นที่ระลึก
แต่กว่าจะมาเป็นคลองที่สวยงามมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนและชาวบ้าน
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง อำเภอหางดง และอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมด 166,057.37 ไร่ จุดสูงสุดอยู่บริเวณที่เรียกว่า ดอยปุย โดยสูงจากระดับน้ำทะเล 1,685 เมตร ปัจจุบันยังมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่มากถึง 145,182.07 ไร่ คิดเป็น 232.29 ตร.กม.
เพื่อดูแลสภาพป่าต้นน้ำให้ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ กรมอุทยานฯ โดยการนำของอธิบดีกรมอุทยานฯ นายอรรถพล เจริญชันษา จึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำคลองแม่ข่า เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยจัดทำฝายต้นน้ำลำธารแบบคอกหมูหินทิ้ง จำนวน 720 ฝาย เพื่อช่วยในการสนับสนุนแหล่งน้ำต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า
ฝายเหล่านี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้น ดักตะกอน และช่วยในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคในพื้นที่
กรมอุทยานฯ ดำเนินการอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณป่าต้นน้ำ โดยการปลูกป่าประชาอาสา จำนวน 72 ไร่ ปลูกหญ้าแฝก 200,000 กล้า และปลูกป่าหวาย จำนวน 72 ไร่ รวมทั้งปล่อยสัตว์ป่า จำนวน 72 ตัว ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เยาวชน จิตอาสา และประชาชนในพื้นที่
ส่วนฝายทั้ง 720 จุด ขณะนี้ ทำสำเร็จเกิน 50% เเล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดล
ที่กำลังพิจารณาต่อยอดพื้นที่อื่น ๆ โดยรูปแบบของฝายที่จะทำ ต้องคำนึงให้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงกับทุกฝ่าย ตั้งแต่คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ