สังคม
อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'ชุดมลายู' 28 ส.ค.นี้ ด้านนักกิจกรรมยัน ไม่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน
โดย panwilai_c
25 ก.ค. 2567
95 views
อัยการจังหวัดปัตตานี นัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 28 สิงหาคม คดีนักกิจกรรมจัดงานแต่งชุดมลายูในวันฮารีรายอ เมื่อปี2565 ในขณะที่นักกิจกรรมยื่นขอความเป็นธรรม ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดแบ่งดินแดนอย่างที่ถูกกล่าวหา ซึ่งมีการเพิ่มไปในใบนัด มากว่าข้อหาที่ดำเนินคดีในตอนต้น จึงห่วงว่านอกจากปิดปากประชาชนแล้วยังปิดพื้นที่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นักกิจกรรม 9 คน พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รายงานตัวต่อ พนักงานอัยการ จังหวัดปัตตานี หลังพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนคดีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ยื่นฟ้องในความผิดตามมาตรา 116,อั้งยี่ ซ่องโจร จากการจัดกิจกรรมแต่งชุดมลายู ในงานมลายูรายอ ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อปี 2565 โดยอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 28 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี
นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมูสลิม เปิดเผยถึงกรณีที่ใบนัดอัยการ ระบุข้อหาว่าร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา,อั้งยี่,ซ่องโจร ร่วมกันชุมนุมตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 209 มาตรา 201 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ซึ่งแม้ทางอัยการจะชี้แจงว่าไม่ได้เพิ่มข้อหา จากข้อหาเดิมใน มาตรา 116, อั้งยี่ และซ่องโจร แต่เป็นการแจ้งถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะแม้มาตรา 1 ไม่ใช่ข้อหา แต่เป็นการเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จึงห่วงว่าผู้ต้องหาจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมั่นใจว่านักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาจะทำเช่นนั้น
นายมูฮำหมัด อาลาดี เด็งนิ นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี มีมั่นใจว่าไม่มีความผิด ตามที่กอ.รมน.กล่าวหา โดยจะยื่นขอความเป็นธรรมไปตามหน่วยงานตามกระบวนการ และมองว่าเป็นความกลั่นแกล้ง ที่เพราะกิจกรรมเป็นหารชุมนุมอย่างสงบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์เท่านั้น ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน และห่วงว่าการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนจะเป็นเงื่อนไขให้มีการกลับไปใช้ความรุนแรง
ขณะที่นายมะยุ เจ๊ะนะ กล่าวว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรม เป็นคดีเกินกว่าเหตุ เรายืนยันมาโดยตลอดว่าการจัดกิจกรรมชุดมลายู เป็นเจตจำนงเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ได้มากที่สุด เป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตามแนวทางสันติวิธี
โดยผู้ต้องหาทั้ง 9 คน พร้อมทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรรมกับพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีด้วย และจะยื่นถึงสำนักงานอัยการสูงสุดรวมถึงทราบว่าองค์การสหประชาชาติ ได้ยื่นหนังสือแสดงความเป็นห่วงในการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วย และคดีนี้ไม่มีเจตนาที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง รวมถึงหลังเกิดเหตุมีการปรับรูปแบบและผ่านการหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว
การเข้ารายงานตัวของนักกิจกรรมคดีชุดมลายูวันนี้ มีครอบครัว มวลชน และภาคประชาสังคมมาให้กำลังใจ และสังเกตการณ์จำนวนมาก เพราะเป็นคดีสำคัญที่ถูกจับตาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะมีการดำเนินคดีแบบเหมารวมด้วย
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรใ และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่ติดตามคดีนี่ห่วงเช่นกันว่าการระบุข้อหา มาตรา 1 ในใบนัด เป็นการกล่าวหาที่รุนแรง และผู้ต้องหาไม่มีโอกาสชี้แจงก่อนจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งการใช้กฎหมายของรัฐมากกว่าการปิดปากและปิดพื้นที่สันติภาพ แสดงให้เห็นว่าไม่รับฟังแม้แต่เสียงคนในพื้นที่
สำหรับนักกิจกรรม 9 คนที่ถูกดำเนินคดี ที่มีทั้งเยาวชน นักดนตรี คนอ่านบทกวี พิธีกร และภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่หลากหลายต่างยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดอย่างที่ถูกกล่าหาและพร้อมเรียกร้องความยุติธรรม