สังคม

กอ.รมน.ภาค 4 - ตำรวจ แจงดำเนินคดีนักกิจกรรมไม่เกี่ยวชุดมลายู แต่พบกิจกรรมแอบแฝง

โดย panwilai_c

17 ม.ค. 2567

81 views

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เชิญนักกิจกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมชุดมลายู และตัวแทนกอ.รมน.ภาค 4 และตำรวจ มาชี้แจง โดยทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการดำเนินคดีไม่เกี่ยวกับชุดมลายู แต่พบว่ามีการจัดการชุมนุมที่แอบแฝงส่อไปทางผิดกฎหมาย แต่ทางนักกิจกรรมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับธงที่รัฐกล่าวหา ขณะที่คณะกรรมาธิการฯ จะทำหนังสือแสดงความเป็นห่วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกรรมาธิการความมั่นคงและกรรมาธิการสันติภาพ ที่ห่วงการใช้กฏหมายปิดปากจะบานปลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว



คณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เชิญนักกิจกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีในการจัดกิจกรรมฉลองวันฮารีรายอ เมื่อปี 2565 ที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 มอบฝ่ายกฏหมายมาเป็นผู้มาชี้แจง โดยยืนยันว่า การดำเนินคดีไม่เกี่ยวกับชุดมลายู แต่มีข้อบ่งชี้บางประการที่ผู้จัดการชุมนุมมีความมุ่งหมายแอบแฝง ส่อไปในการทำผิดกฏหมาย แต่ไม่สามารถบอกข้อบ่งชี้ได้ เพราะส่งพยานหลักฐานในการดำเนินคดีไปแล้ว



สำนักกฏหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 ยืนยันว่า เหตุที่มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการพบธงบีอาร์เอ็น และการกล่าวข้อความที่สุ่มเสี่ยงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แม้ผู้จัดงานบอกว่าไม่เกี่ยว แต่เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดงาน ขณะที่พนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี และรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ยอมรับว่าคดีนี้มีความละเอียดอ่อน จึงต้องใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนจะทำงานตามพยานหลักฐาน



ในที่ประชุมที่มี สส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 13 เขต ได้มาร่วมรับฟังการประชุม รวมถึงคณะกรรมาธิการ ส่วนใหญ่มีความเห็นไปทิศทางเดียวกันว่า การแต่งกายชุดมลายูเป็นการแสดงอัตลักษณ์วัฒนธรรม สามารถทำได้ และตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเจ้าหน้าที่ทิ้งเวลาไว้ถึง 2 ปี จึงมาดำเนินคดี รัฐต้องชี้แจงให้ได้ เพราะอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวให้เกิดความแตกแยก ซึ่งผู้ร้องเรียน ก็ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมแต่งชุดมลายู รวมพลังเยาวชนเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งกลายเป็นพลัง เช่น การช่วยเหลือน้ำท่วม การชูธงบีอาร์เอ็น ผู้จัดงานก็ไม่รับทราบ รวมถึงการทำท่าสัญลักษณ์และคำว่าบังซาร์ ก็หมายความว่าชาติพันธุ์ ไม่ใช่การเรียกร้องเอกราช



คณะกรรมาธิการกฏหมาย จะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะห่วงว่าการดำเนินคดีจะกระทบการสร้างสันติภาพ และพนักงานสอบสวนอาจต้องหาพยานหลักฐานอีกมาก จึงเป็นเรื่องที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย



นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีปิดปาก ยังยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคง ที่มีนายริงสิมันต์โรม เป็นประธาน เพราะต้องสอบถามไปยังหน่วยงานความมั่นคงว่ามีเหตุผลใดในการดำเนินคดี ทั้งๆที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว นอกจากนี้ยังยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการสร้างสันติภาพ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน ก็ขอให้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับทราบสถานการณ์ที่กระทบกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่



ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรวันนี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ใส่ชุดมลายู นั่งบังลังก์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาฯ เพื่อแสดงจุดยืนในการเคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของทุกชาติพันธ์ มีสิทธิและเสรีภาพที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม ก็ใส่ชุดมลายู ขอหารือต่อที่ประชุม เรื่องการดำเนินคดีปิดปากกับนักกิจกรรม เป็นการย้อนแย้งของรัฐบาล และยังเป็นการตบหน้าการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสันติภาพ ที่พยายามหาทางออกในสภาฯ แต่ในพื้นที่กลับใช้กฏหมายปิดปากประชาชน

คุณอาจสนใจ