สังคม

2 กรมฟ้องเรียก 1.8 พันล้าน 'บ.ทีเอชเอช' จ.ฉะเชิงเทรา ปมปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำ

โดย panwilai_c

30 มิ.ย. 2567

233 views

นอกจากบริษัท ทีเอชเอชบี โมลีโพรเซสซิ่ง (THHB Moly Processing) ที่พบการปล่อยค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินค่ามาตรฐาน ออกสู่อากาศแล้ว ยังมีโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ชื่อทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง ซึ่งชื่อบริษัทนี้คล้ายกันมาก เพราะเจ้าของกิจการเป็นเครือญาติกัน และประกอบกิจการผลิตโมลิบดินัม ออกไซด์ เหมือนกัน แต่โรงงานนี้ถูกสั่งปิด ปรับปรุงไปแล้ว เพราะพบว่าเป็นต้นเหตุของการปล่อยสารเคมีหลายชนิดปนเปื้อนลงน้ำใต้ดิน จนกระทั่งอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 ที่มีความจุกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ประโยชน์ไม่ได้ กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ฟ้องเอาผิดทางแพ่งเป็นเงินกว่า 1,800 ล้านบาท



คลิปภาพนี้บันทึกไว้จากโรงงานทีเอชเอช ตั้งอยู่สวนอุตสาหกรรม 304 อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา น้ำสีเขียวที่เห็นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของน้ำปนเปื้อน สารเคมีหนักหลาย ชนิด ที่เกิดจากขั้นตอนการผลิต โมลิบดินัม ออกไซด์ ของโรงงานนี้



ขณะเดียวกันคลิปและภาพของบ่อดินเก็บกากสารเคมีโดยไม่มีวัสดุใดคลุมดินไว้ก่อนนั้น ก็เป็นหลักฐาน ส่วนหนึ่ง ที่ถูกนำไปใช้หาคำตอบจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ และโดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จบพบว่าน้ำปนเปื้อน เหล่านี้ไหลซึมลงสู่น้ำบาดาล ใต้ดิน และทำให้อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีหลายชนิดตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา





และนับตั้งแต่นั้น อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ที่จุน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะคุณภาพน้ำไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะอุปโภค และบริโภค



นักธรณีวิทยาชำนาญการ จากทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้ให้เห็นว่าการสำรวจและศึกษาหลายมิติ ทั้งภูมิประเทศบนผิวดินซึ่งที่ตั้งโรงงานโน้มเอียงลงสู่อ่างเก็บน้ำ การสำรวจด้วยการขุดเจาะน้ำใต้ดิน จนได้คำตอบทิศทางน้ำบาดาลว่าไหลจากโรงงาน ลงสู่อ่างเก็บน้ำ



รวมถึงการนำตัวอย่างน้ำในอ่างไปตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างสารเคมีที่ตกค้างในน้ำ ตรงกับชนิดของสารเคมีที่ใช้ และตกค้างจากการใช้ในกระบวนการผลิตโมลิบดินัม ออกไซด์ของโรงงานนี้



จากปี 2562 เป็นต้นมาที่พบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำบาดาล กระทั่งถึงวันนี้ ที่สำรวจน้ำบาดาลแล้ว ก็ยังพบว่าน้ำมีสีเขียวใส แต่เต็มไปด้วยสารเคมีทั้งเหล็ก ทองแดง และมีฤทธิ์เป็นกรด



ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทราระบุว่า กรมชลประทานประสานกับกรมควบคุมมลพิษฟ้องคดีแพ่ง บ.ทีเอชเอช 1,800 ล้านบาท ซึ่งศาลนัดรับฟังคำตัดสิน 31 กรกฎาคมนี้



ทีเอเอช โมลีโพรเซสซิง เป็นบริษัทของนักธุรกิจชาวจีน ซึ่งถูกกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา สั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และให้ปรับปรุง ระบบจัดการกากของเสียให้เรียบร้อยทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นว่าของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตโมลิบดินัม หรือเฟอร์ริค คลอไรด์ และมีส่วนผสม ของสารเคมีร้ายแรงหลายชนิดนั้น โรงงานต้องแก้ไข ปรับปรุง ไม่ให้เล็ดลอด รั่วไหล หรือปนเปื้อนออกนอกโรงงาน



ล่าสุดโรงงานนี้เพิ่งเปลี่ยนกรรมการบริษัท เป็นชาวจีน ชื่อ จาง ฉิง ฉี เขานำเจ้าหน้าที่เข้าชี้จุดที่วางแผนไว้ว่าจะปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งกรมโรงงานฯ และจุดที่เขาบอกว่า จะปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคำสั่งกรมโรงงานฯขยายเวลาให้ปรับปรุง ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้



อธิบดีกรมโรงงานระบุว่า แม้เป็นกรรมการบริษัทคนใหม่ ก็ต้องรับรู้ปัญหาเก่าที่มีอยู่ และบริษัทนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อหวังจะเดินหน้ากิจการไปก็จริง แต่ก็ไม่อาจพ้นความรับผิด ที่เกิดขึ้นไปแล้ว



เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมปีนี้ เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีโรงงานเถื่อนแห่งหนึ่ง ในอ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี รับซื้อเฟอร์ริค คลอไรด์ ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตโมลิบดินัม หวังว่าจะนำไปสกัดเอาทองแดง แล้วนำกลับมาขายให้ชาวจีนอีกครั้ง แต่ทุกขั้นตอนของผู้ประกอบการรายดังกล่าวที่สุพรรณบุรี ล้วนผิดกฎหมายและผิดหลักความปลอดภัย จนทำให้เฟอร์ริค คลอไรด์ ปนเปื้อนลงพื้นที่เกษตรกรรม



การตรวจสอบหลักฐานขณะนั้นพบว่า เฟอร์ริคคลอไรด์ส่วนใหญ่ นำออกจากโรงงาน ทีเอชเอช ที่ฉะเชิงเทราแห่งนี้นี่เอง นั่นทำให้โรงงานนี้ถูกสั่งปิดปรัปปรุง



อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กำลังเดินหน้าเอาผิดโรงงานนี้เพิ่มเติมในความผิดอาญา ฐานปล่อยสารเคมีมีพิษลงแหล่งน้ำสาธารณะจนไม่สามารถใช้ประโยชน์อุปโภคและบริโภคได้

คุณอาจสนใจ

Related News