สังคม
'กรีนพีซ' ร่วม 'จะนะ' ยื่นข้อเสนอรบ. จัดเขตคุ้มครองทางทะเล
โดย panwilai_c
25 มิ.ย. 2567
90 views
กรีนพีซ ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยื่นข้อเสนอ การจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ไปยังรัฐบาล เป็นหนึ่งการสร้างความยุติธรรมแห่งมหาสมุทร Ocean Justice ที่กรีนพีซ รณรงค์กับชุมชนชายฝั่งทั่วโลก ในการส่งเสริมให้ชุมชนทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งชุมชนจะนะ มีความเข้มแข็งเป็นต้นแบบของอาเซียนได้
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นางสาวเธียรรัตน์ แก้วนะ ประธานกลุ่มจะณะแบ่งสุข และ นายเจะปิ อนันทบริพงษ์ ประธานกลุ่มจระโผง และทีมประมงพื้นฐาน ยื่นข้อเสนอทางนโยบายการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ต่อนายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในงานรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทรภายใต้โครงการ "Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice" ที่กรีนพีซ ร่วมกับเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อำเภอจะนะ ที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ผ่านการทำงานร่วมกันของชุมชนมาตลอด 20 ปี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากร ท่ามกลางการต่อสู้ของชาวจะนะในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อให้รัฐจัดทำนโยบายภายใต้ความต้องการของประชาชนที่แท้จริง ซึ่งตรงกับแคมเปญ Ocian Justice ของกรีนพีซ
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตอบรับข้อเสนอของเครือข่ายชุมชน และขอบคุณกรีนพีซ ที่สนับสนุนสิทธิชุมชน ข้อเสนอที่ยื่นมาวันนี้จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ทางจังหวัดทำอยู่ ทั้งความมั่นคงทางอาหาร การเกษตรและการท่องเที่ยว
นางสาววิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนชายฝั่งและทะเลไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประมงเกินขนาด ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเล และยังเป็นการลิดรอนสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน การที่ชุมชนมีความเข้มแข็งที่จะพัฒนาชายฝั่งได้จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
โดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ย้ำว่าที่ผ่านมา กรีนพีซ ทำงานร่วมกับชุมชน นักวิชาการและภาครัฐ ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการทำงานวิจัยต่างๆด้วย การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน OECM ที่ทะเลจะนะ ถือเป็นต้นแบบของอาเซียน จะเป็นมาตรการต่อสู้กับภาวะโลกเดือด
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหน่วยงานราชการในพื้นที่ยังได้ร่วมชมเรือ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่จอดลอยลำที่ทะเลจะนะ เพื่อรณรงค์ Ocian Justice ด้วย
ในขณะที่เด็กและเยาวชนในอำเภอจะนะได้มีการจัดการแสดงศิลปะท้องถิ่น และการแสดงเพื่อนรักต่างศาสนาที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของชาวจะนะทั้งศาสนาพุทธและมุสลิม และวิถีชีวิตควนป่านาเล ซึ่งมีอาชีพทั้งกรีดยาง เลี้ยงนกเขาชวาและทำการประมง กลายเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แท็กที่เกี่ยวข้อง กรีนพีซ ,จะนะ ,คุ้มครองทางทะเล ,เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง