สังคม

'พิธา' ร่วมวงเสวนา 3 ปี หลังรัฐประหารเมียนมา เผย เสียดายรบ.ไม่ได้เข้ารับฟังเพราะมีข้อเสนอแนะที่ดี

โดย parichat_p

3 มี.ค. 2567

114 views

การประชุมสถานการณ์เมียนมา 3 ปี หลังรัฐประหาร คาดหวังบทบาทไทย ทั้งกลุ่มชาติพันธ์ุที่แม้บางส่วนยังเดินหน้าในการสู้รบเพราะเชื่อว่ามีโอกาสจะชนะ ในขณะที่อีกส่วนมองว่าจะต้องเจรจาทางการเมืองเพื่อเป้าหมายสหพันธรัประชาธิปไตย ในขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข มองว่าปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญของสงครามในเมียนมา รัฐบาลไทยต้องเปลี่ยนบทบาททางการทูตให้ไทยเป็น Peace Broker ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสนอเปิดเวที Chainmai dialouge เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเพื่อสันติภาพในเมียนมา


ข้อเสนอสำคัญจากเวที Ehtnic Voices พลเอกเจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS กองกำลังไทใหญ่ SSA ยืนยันว่าเหตุที่ไม่สู้รบกับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะยังยึดข้อตกลง NCA เมื่อปี 2015 และเชื่อมั่นในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่จากการพบกับพลเอกมินอ่องหลาย หลายครั้ง เพื่อเสนอแนะในการเจรจาทางการเมือง และพลเอกมินอ่องหล่าย ระบุว่าต้องให้กองกำลังชาติพันธุ์หยุดก่อการร้ายเสียก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และปัญหาเลยจุดที่จะพูดคุยกันภายในแล้ว จึงเห็นว่านานาชาติต้องเข้ามามีบทบาท เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย และยูเอ็น ซึ่งมีการยอมรับใน NCA แล้ว หรืออาเซียนที่น่าจะทำได้ง่ายสุดโดยมีไทยเป็นบทบาทหลัก ที่จะร่วมกับทุกชาติพันธ์ุในการพูดคุยเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงทางการเมืองในการปกครองรูปแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย


ขณะที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เห็นว่าการต่อสู้ทางการทหารยังคงจำเป็น เพราะกองทัพเมียนยังใช้ความรุนแรงปราปรามกลุ่มต่อต้าน แต่การพูดคุยก็จำเป็นเพื่อไปสู่เป้าหมายทางการเมืองร่วมกันแต่ขอให้อยู่ในหลักการ 6 ข้อ เช่นทหารต้องอยู่ใต้การเมือง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่


อ่อง มะแง ตัวแทนจากพรรครัฐมอญใหม่ ก็เห็นด้วยว่าการสู้รบและการเจรจาสันติภาพเด็นไปด้วยได้ โดยขณะนี้กำลังมีการพูดคุยกันของ 7 กลุ่มชาติพันธ์ุ เช่น KNU DKBA PNLO LDU RCSS NMSP ALP กำลังนัดปรึกษาหารือสาธารณะ consultation เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันถึงรูปแบบการปกครองสหพันธรัฐประชาธิปไตย ที่เหมาะสมและเสนอทุกกลุ่มชาติพันธ์ุ และรัฐบาลทหาร SAC


ตรงกับข้อเสนอของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เห็นว่าไทยมีบทาทสำคัญต่อสันติภาพในเมียนมา ทั้งจากเหตุผลที่มีชายแดนติดกันและชาวเมียนมาอพยพมาไทยจำนวนมาก จึงอยากเห็นบทบาทในการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยกันเช่นการจัดประชุมที่จ.เชียงใหม่ในรูปแบบ เชียงใหม่ ไดอะล็อค ซึ่งจะนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพในอนาคตได้


ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เสนอว่าไทยต้องปรับบทบาททางการทูตต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมา มาทำหน้าที่ Peace Broker เหมือนที่เคยทำสำเร็จในสมัยเขมร 3 ฝ่าย และอาจทำหน้าที่เหมือนประเทศโปแลน์ในสงครามยูเครน ที่เป็นพื้นที่พักพิงให้ผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องปรับแนวคิดใหม่ว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและงานด้านมนุษยธรรม ซึ่งต้องทำมากกว่าระเบียงมนุษยธรรมแต่ควรเป็นสถานีมนุษยธรรม ซึ่งต้องมากกว่าใน อ.แม่สอด จ.ตาก แต่อาจต้องเตรียมในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.กาญจนบุรี


ทั้งศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เสียดายที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามารับฟังการประชุมที่จัดขึ้น เพราะมีข้อเสนอแนะที่ดี ซึ่งนายพิธา ย้ำด้วยว่ารัฐสภาไทยมีสิทธิจัดการประชุมนี้ เพราะเรื่องของเมียนมากระทบกับไทยจึงไม่กังวลกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศเมียนมามีหนังสือท้วงติงถึงการจัดงานนี้

คุณอาจสนใจ

Related News