สังคม
3 ปีรัฐประหารเมียนมา 'กลุ่มชานมสันติภาพ' ตั้งวงเสวนาหวังรบ.ไทย เป็นผู้นำช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โดย nut_p
1 ก.พ. 2567
66 views
ครบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา กลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมามีการรวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตยที่หน้าองค์การสหประชาชาติ และกลุ่มชานมสันติภาพทำกิจกรรมหน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขณะที่หลายฝ่ายคาดหวังบทบาทไทยเป็นผู้นำสร้างสันติภาพเมียนมา และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่รัฐบาลเริ่มต้นได้ดีแล้ว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่
กลุ่มชานมสันติภาพ ที่เป็นนักกิจกรรมชาวไทย จัดกิจกรรมดื่มน้ำชาเพื่อสันติภาพเมียนมา ในวันครบรอบ 3 ปี รัฐประหารในเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก กิจกรรมมีการร่วมดื่มน้ำชา ที่มีชาพม่า ชาไต้หวัน และชาไทย เพื่อแสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย และเมนูยำใบชา ที่สื่อถึงสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศและต้องลี้ภัยหลายแสนคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพเมียนมา โดยต้องลดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารและเรียกร้องประชาคมโลกร่วมคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้หยุดการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเมียนมาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากว่า 70 ปี
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม ร่วมกิจกรรมกลุ่มชานมสันติภาพ เพื่อให้กำลังใจชาวเมียนมาที่ต้องลี้ภัยหลังการรัฐประหารจำนวนมาก และอยากให้คนไทยร่วมสนับสนุนสันติภาพในเมียนมา โดยเห็นว่าการที่รัฐบาลตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเมียนมา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แต่เห็นว่าอาจต้องรวมถึง จ.แม่ฮ่องสอน และสนับสนุนการสร้างระเบียงมนุษยธรรม รวมถึงอยากเห็นไทยมีบทบาทนำในการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพราะปฏิเสธไม่ได้ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ชายแดนไทย
ขณะที่วงเสวนา วิกฤตการณ์ในเมียนมา 3 ปี รัฐประหารในเมียนมากับบทบาทของไทย นายบันยา โฆษกสภาบริหารชั่วคราวรัฐคะเรนนี เห็นว่าสถานการณ์ในรัฐคะเรนนีปีนี้จะดุเดือด และการรวมตัวของ 4 กองกำลังชาติพันธุ์ ทั้งรัฐชิน รัฐกะเหรี่ยง คะเรนนี และ NUG จะเกิดปฏิบัติการในการสู้รบมากขึ้น อาจต้องมีผู้ลี้ภัยมายังชายแดนไทยและพลัดถิ่นภายในประเทศ จึงต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการไปถึงเป้าหมายทางการเมืองในการปกครองสหพันธรัฐ ยังเป็นความหวังที่ทุกกลุ่มอยากเห็นเพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา
น.ส.เพียรพร ดีเทศ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เห็นด้วยที่ไทยจะเปิดศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่เห็นการทำงานระดับรัฐบาลที่จะทำร่วมกับกาชาดเมียนมา ผ่านกาชาดไทยและกาชาดสากล อาจเป็นไปได้ยากมากที่จะเข้าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ และไทยต้องสร้างบทบาทในการหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
ขณะที่ ผศ.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นตรงกันว่าฉากทัศน์ของสันติภาพในเมียนมา ไทยต้องมีองค์ความรู้เพิ่มและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และประเมินสถานการณ์ทั้งภายในและชายแดน
นอกจากนี้ วงเสวนายังฝากถึงรัฐบาล ต้องวางบทบาทในการเจรจาสันติภาพในเมียนมา แม้จะมีลาวเป็นประธานอาเซียน แต่ไทยสามารถเป็นผู้นำในเรื่องนี้ได้