สังคม

กรมศิลป์ฯ เข้าติดตั้งพนังกั้นน้ำ ป้องกันโบราณสถานใน จ.อยุธยา

โดย panwilai_c

12 ต.ค. 2566

147 views

มวลน้ำจากภาคกลางตอนบนจากลุ่มน้ำป่าสัก ก็จะไหลมาสมทบรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนอกจากพื้นที่ทุ่งรับน้ำ และชุมชนแล้ว โบราณสถาน ก็เป็นอีก 1 พื้นที่ที่มักได้รับผลกระทบจากน้ำที่หลากลงมา แม้มวลน้ำในปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้วหลายเท่า แต่ล่าสุดกรมศิลปากรได้เข้าติดตั้งพนังกั้นน้ำ เพื่อการป้องกันในเบื้องต้นแล้ว



แนวพนังเหล็กกั้นน้ำความสูง 1.8 เมตร ถูกนำมาติดตั้งบริเวณริมตลิ่งวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดระยะ 160 เมตร ตามแผนป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานขั้นต้น ตั้งแต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มสูงขึ้น จนถึงระดับต่ำกว่าตลิ่งวัดไชยวัฒนาราม 70 เซนติเมตร ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ได้ภายในไม่ถึงสัปดาห์



ข้อมูลล่าสุดของระดับน้ำบริเวณด้านหน้าวัดไชยวัฒนาราม ระบุว่า ระดับน้ำในปีนี้ยังต่ำกว่าเมื่อปี 2565 อยู่เกือบ 3 เมตร และยิ่งห่างไกลจากของปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งถือว่ายังไม่น่ากังวล



ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีโบราณสถานแห่งใดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำหลากในปีนี้



ซึ่งวัดไชยวัฒนารามคือตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะหากที่นี่เกิดน้ำท่วม โบราณสถานอื่นๆ ทั่วจังหวัดก็จะได้รับผลกระทบทันที โดยตอนนี้ทางอุทยานได้ติดตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมเพิ่มที่วัดธรรมารามอีกแห่ง และใช้แนวทางเดียวกันนี้ในอีก 7 จุด



ขณะที่โบราณสถานป้อมเพ็ชรที่เคยถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมทั้งป้อมเมื่อปีก่อน มาปีนี้ระดับน้ำก็ยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งมาก



ทั้งนี้ ปัจจัยหลักยังขึ้นกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ บริเวณพื้นที่ต้นน้ำอีกด้วย



นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า กรมศิลปากรได้กำหนดมาตรการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถาน โดยอ้างอิงจากระดับน้ำสูงที่สุด



คือ เมื่อปี 2554 ที่มีระดับน้ำสูงถึง 5.76 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งพนังเหล็กกั้นน้ำสามารถเสริมความสูงเพื่อป้องกันระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นได้สูงถึง 2.4 เมตร



สำหรับตอนนี้ก็เข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางมาชมความงดงามของโบราณสถานตลอดทั้งวัน ซึ่งจากนี้ทางอุทยานก็จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังระดับแม่น้ำลำคลองที่ผ่านตัวเมืองตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบโบราณสถานที่เคยถูกน้ำท่วม เพื่อเตรียมป้องกันเหตุต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News