สังคม

เสี่ยงล้ม ‘พระธาตุโนนตาล’ อายุเก่าแก่ 120 ปี ร้าวทั้งองค์

โดย thichaphat_d

22 พ.ย. 2566

162 views

พระธาตุโนนตาล โบราณสถาน อ.ท่าอุเทน อายุเก่าแก่กว่า 120 ปี พบรอยร้าวทั้งองค์ เสี่ยงล้ม เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร รุดตรวจสอบป้องกัน คาดโครงสร้างทรุดตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบโบราณ ก่ออิฐถือปูน เร่งหาทางบูรณะ

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนม ความคืบหน้ากรณีมีชาวบ้านพบรอยร้าว ขององค์พระธาตุโนนตาล ถือเป็นโบราณสถาน อายุเก่าแก่กว่า 120 ปี ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์โบราณ คู่บ้านคู่เมือง อ.ท่าอุเทน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมถึงวัตถุโบราณ มีความสูงประมาณ 36 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 7.50 เมตร เป็นการก่อสร้างจากอิฐถือปืน โดยพบว่า มีรอยร้าวทั้งองค์ คาดว่าเสื่อมสภาพตามกาลเวลา


ล่าสุดทางด้าน นายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมนำอุปกรณ์เหล็กแบนและลวดสลิง ดำเนินการรัดรอบองค์พระธาตุ เพื่อป้องกันรอยร้าวเพิ่มมากขึ้น และเตรียมบูรณะให้กลับมามีสภาพดังเดิม พร้อมแจ้งเตือนชาวบ้าน พุทธศาสนิกชน ห้ามเข้าในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เนื่องจากองค์พระธาตุมีโอกาสล้ม ที่จะเกิดอันตรายได้

จากการสอบถาม ชาวบ้านทราบว่า องค์พระธาตุโนนตาล ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นพระธาตุเก่าแก่โบราณคู่บ้านคู่เมือง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน อยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ถือเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ที่มีหลักฐานกล่าวถึงประวัติว่าก่อสร้างเมื่อปี 2445 นับถึงปัจจุบันองค์พระธาตุโนนตาลมี อายุถึง 121 ปี เป็นการก่อสร้าง ของพลังศรัทธา รวมถึงพระเกจิ ร่วมกับชาวบ้าน ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือน ในพื้นที่ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ประมาณปี 2420 จนกระทั่งมีการค้นพบซากปรักหักพัง ของพระธาตุองค์เดิม จึงมีการร่วมกันบูรณะ ก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นโบราณสถาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์


ส่วนสาเหตุการเกิดรอยร้าว มาจากสภาพเก่าแก่ตามกาลเวลา และเป็นโครงสร้างที่เป็นฐานแบบก่ออิฐถือปูน ของช่างก่อสร้างในอดีต ที่มีโอกาสทรุดตัวจนเกิดรอยร้าว อีกส่วนอาจเกิดจากมีที่ตั้งติดทางหลวงชนบท นพ.3014 ถือเป็นเส้นเลี่ยงเมือง ที่มีรถบรรทุกหนักวิ่งจำนวนมาก และเกิดผลกระทบตามมา อย่างไรก็ตามทาง สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี จะได้เร่งหาทางป้องกัน และบูรณะ ตามขั้นตอนต่อไป

คุณอาจสนใจ