สังคม
นักวิจัย ม.นเรศวร พัฒนาระบบตรวจหาโควิดในน้ำเสีย มั่นใจช่วยลดการระบาด
โดย panwilai_c
5 เม.ย. 2565
83 views
นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการตรวจหาซากเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียเพื่อนำข้อมูลไปวางแผนค้นหาผู้ติดเชื้อและป้องกัน กำลังจะพัฒนานวัตกรรมการตรวจหาซากเชื้อจากน้ำเสียโสโครกอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเร่งพัฒนาระบบการตรวจหาให้ทราบผลทันที คล้ายกับการตรวจ ATK แต่วิธีนี้จะตรวจหาการติดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ได้ และวิธีนี้จะรองรับการเตรียมประกาศให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ตลาดสดเทศบาล 5 หรือตลาดบ้านคลอง ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะแบบเปิดที่เคยมีการเก็บตัวอย่างน้ำเสียโสโครกไปตรวจหาซากเชื้อโควิด-19 หรือ ซาร์-โควีทู จนประสบความสำเร็จในการค้นหาผู้ติดเชื้อ และตอนนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัย ขณะเดียวกัน วิธีตรวจซากเชื้อในน้ำเสียก็ถูกใช้เป็นฐานข้อมูล ควบคู่กับมาตรการอื่น ที่เทศบาลนครพิษณุโลกใช้เฝ้าระวังการระบาดของโรค
ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครพิษณุโลก เปิดเผยระหว่างร่วมเวทีเสวนาวิชาการ เรื่องการกรวดน้ำเสียโสโครก เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าว่า ยิ่งงานวิจัยตรวจหาซากเชื้อในน้ำเสียแม่นยำมากเท่าใด เมื่อไปรวมกับมาตรการอื่นๆที่มีอยู่ ก็ยิ่งช่วยป้องกันและประหยัดได้มาก
ข้อมูล ที่นักวิจัยเปิดเผยในเวทีเสวนาวิชาการวันนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำเสียในเทศบาลนครพิษณุโลก รวม351 ตัวอย่าง ตั้งแต่ 25 สิงหาคมปีที่แล้ว ถึง 18 มีนาคม ปีนี้ จะพบการเปลี่ยนแปลงของผู้ติดเชื้อในจุดที่เก็บตัวอย่างดังกล่าว และนำไปสู่คำแนะนำเพื่อรับมือ ทั้งการแจ้งเตือนประชาชน การตั้งจุดตรวจ และตั้งจุดฉีดวัคซีน
จากข้อมูลยังพบว่า การตรวจหาซากเชื้อดังกล่าว เตือนภัยการระบาดล่วงหน้าของสายพันธุ์เดลต้าได้ราว 22-23 วัน ก่อนการระบาด และเตือนภัยล่วงหน้าสายพันธุ์โอมิครอนได้ 8-10 วัน
ตอนนี้งานวิจัยซึ่งเป็นผลงานร่วมระหว่างกองทุนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์และวิจัยและนวัตกรรม กำลังถูกนำมาใช้เพื่อตรวจหาซากเชื้อและเป็นฐานข้อมูลป้องกันทั้งในตลาด โรงเรียน หรือเรือนจำเป็นต้น รองรับกรณีที่โควิด-19 จะถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่ 1 กรกฏาคมนี้
หัวหน้าโครงการวิจัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรยอมรับว่ายิ่งประกาศให้โควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็ยิ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังการระบดแบบกลุ่มก้อน เพราะงบประมาณที่เคยใช้จำนวนมากจากการเป็นโรคระบาดร้ายแรง ก็จะถูกปรับลดลง และจะประหยัดได้มาก
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยกำลังเร่งพัฒนาระบบตรวจหาซากโควิด-19 ในน้ำเสียให้ได้ผลทันที โดยไม่ต้องเข้าห้องแล็ปปฎิบัติการณ์ในชั้นต้น แต่จะนำเข้าห้องแล็ปก็ต่อเมื่อต้องการหาปริมาณซากเชื้อ หรือความหนาแน่เพื่อคำนวณหาผู้ติดเชื้อจากพื้นที่เก็บตัวอย่างดังกล่าว