สังคม

สิงห์อาสา-นักวิชาการ สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนยั่งยืน รับมือเอลนีโญภัยแล้ง

โดย panwilai_c

5 พ.ค. 2566

128 views

นักวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เตือนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ จะส่งผลแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย และ จะกินระยะเวลานานอย่างน้อย 3 ปี ตอนนี้ทางคณะได้ร่วมกับสิงห์อาสา เข้าสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากชาวบ้านต้องเผชิญกับการขาดแคลนแหล่งน้ำอย่างแน่นอน



เมื่อฝนทิ้งช่วงนานเกินกว่าเดือนเมษายน นั่นคือสัญญาณเตือนของภัยแล้งของภาคอีสานที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ แต่สำหรับปีนี้สถานการณ์โลกร้อนจากปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมนานตลอด 3 ปีที่ผ่านมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าในอดีตนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยอากาศจะร้อนและแล้งจัดกว่าทุกปี



ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นทุบสถิติในปีนี้และปีหน้า ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) หลังลานีญาครั้งนี้จะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นนานกว่าเดิม ในภูมิภาคแปซิฟิก จากปกติ 12-18 เดือน กลายเป็นอย่างน้อย 3 ปี



ขณะที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ของภาคอีสานก็มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพียง 1,400-1,600 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงปัญหาภัยแล้งได้ยากอย่างแน่นอน



ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น คือ 1 ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในทุกปี



โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมีเพียงบ่อน้ำขนาดเล็ก ที่ต้องแบ่งกันกินกันใช้และทำการเกษตร ร่วมกันถึง 3 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 หมู่ 8 และหมู่ 9 ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนเกิดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน



สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้ร่วมกันสร้างแหล่งน้ำชุมชนต้นแบบสู้ภัยแล้งให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ปรับปรุงบ่อน้ำเดิมให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน



การออกแบบบ่อน้ำแห่งนี้ จะต้องอาศัยข้อมูลเชิงธรณีวิทยา สำรวจแหล่งน้ำบาดาล ก่อนอันดับแรก เพื่อให้บ่อน้ำมีน้ำผุดขึ้นตลอดปี ซึ่งบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ ทำให้แหล่งน้ำแห่งนี้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอกับทุกคนในชุมชนในทุกฤดูกาล



นับตั้งแต่ปี 2564 สิงห์อาสาได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง



โดยอาศัยพลังของเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ลงพื้นที่แจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแทงก์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล และสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน โดยตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

คุณอาจสนใจ

Related News