สังคม

อาลัย 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' นักวิชาการประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย

โดย panisa_p

7 ส.ค. 2566

114 views

วันนี้ประเทศไทยได้สูญเสียศาสตร์จารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญอีกคนของประเทศ เจ้าของงานวรรณกรรม และ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในวัย 83 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอด



ศาสตร์จารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งปอด ในวัย 83 ปี ที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 11.47 น. ซึ่งเป็นการเเจ้งข่าวผ่านเฟสบุคของ นางสาวรจเรข วัฒนาพาณิชย์ คนในแวดวงนักหนังสือ โดยข้อความระบุว่า ศาสตร์ตราจารย์นิธิได้อุทิศร่างกายให้กับ โรงพยาบาล และ มีความประสงค์จะไม่จัดงานพิธีกรรมใดๆ



ภายหลังจากที่ทราบข่าวก็มีบุคคลสำคัญในแวดวงสังคมไทยออกมาโพสต์ไว้อาลัยให้กับการจากไปของ ศาสตร์จารย์นิธิ ทั้ง นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นปัญญาชนที่สำคัญของประเทศไทยคนหนึ่ง ที่นายชัยธวัชได้ติดตามบทความเป็นประจำตั้งแต่สมัยมัธยมจนกระทั่งปัจจุบัน จึงรู้สึกใจหายต่อการสูญเสียต่อบุคคลที่ได้รู้สึกผูกพันด้วยผ่านงานเขียนของอาจารย์



ขณะที่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา ส.ศิวรักษ์ ก็โพสต์ข้อความระบุว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้เป็นเพียงนักประวัติศาสตร์ ที่มีลูกศิษย์มาก และ ลูกศิษย์ของเขาก็มีความรู้ประวัติศาสตร์ หนังสือที่อาจารย์นิธิเขียนหลายเล่มมีความน่าอ่าน น่าทึ่ง น่าวิจารณ์ ซึ่งนอกเหนือไปจากการเป็นอาจารย์และนักเขียนแล้ว เขายังเป็นปัญญาชนที่ยอมเสี่ยงชื่อเสียงและเกียรติยศ แสดงทัศนะต่อต้านเผด็จการ และ ยืนยัดในฝ่ายประชาธิปไตย เป็นคนสำคัญที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ ใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน ใครก็ตามที่คิดถึงเรื่องเมืองไทยก็จะต้องนึกถึงอาจารย์นิธิตลอดไป



สำหรับประวัติของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2483 เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐฯ



เป็นนักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลฟุกุโอกะ และรางวัลศรีบูรพา ปี 2545 โดยเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เป็นเครือข่ายวิชายการและเว็บไซต์สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ มีบทความและงานเขียนมากมายที่สะท้อนการเมืองการปกครองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงบทความทางการเมืองอีกมากมายที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ด้วยผลงานต่างๆ ที่ประจักษ์ชัดในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่ควรแก่การสดุดีและเป็นแบบอย่าง ทำให้ได้รับการยกย่องจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในรุปของรางวัล และ ปริญญากิตติมศักดิ์มากมาย

คุณอาจสนใจ

Related News