สังคม

เปิดพิรุธกรมศุลฯเปิดประมูลนาฬิกาปลอม ผู้เสียหายเชื่อมีคนในแอบเปลี่ยน จี้รับผิดชอบ

โดย panwilai_c

11 ก.ค. 2566

344 views

ผู้เสียหายจากการร่วมประมูลนาฬิกาแบรนด์ดังจากกรมศุลกากร เปิดข้อพิรุธการประมูลครั้งล่าสุดของกรมศุลกากรว่า น่าจะมีการเปลี่ยนสินค้าของจริงเป็นของปลอมกันกลางอากาศ และหากผู้ประมูลไม่ได้นำสินค้าไปตรวจสอบทันที จะไม่สามารถนำสินค้ากลับไปโต้แย้ง เรียกร้องเงินคืนได้ ด้านอธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่ากำลังเร่งตรวจสอบถึงการสาเหตุการนำนาฬิกาปลอมถึง 13 เรือนมาประมูล เพราะสร้างความเสียหายต่อองค์กรเป็นอย่างมาก ไปติดตามรายงานจากคุณสุมนา แจวเจริญวงศ์



ผู้เสียหายที่จ่ายเงินเกือบ6 ล้านบาท ในการประมูลนาฬิกาจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับอธิบดีกรมศุลกากร รับปากว่าจะสืบหาความจริงให้ปรากฏ



ซึ่งผู้เสียหายก็จะคอยดูว่าผลการสอบจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องปกติที่นำนาฬิการาคาแพง แต่เป็นของปลอมมาเปิดประมูลถึง 13 เรือน ผู้ประมูลยังชี้ว่าโชคดีที่เมือรับนาฬิกามาจากกรมศุลกากรก็มีคนติดต่อซื้อทันที จึงตรงไปเช็คที่ร้านขายนาฬิกาแบรนด์ดังช่วยตรวจสอบ จนพบว่าเป็นของปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังรับของมา หากไม่นำไปเช็คในวันเดียวกัน และเวลาล่วงเลยไป คงเรียกร้องเงินคืนไม่ได้



ข้อพิรุธที่น่าแปลกใจก็การประมูลครั้งนี้มีผู้ประมูลน้อย จนไม่มีคู่แข่ง ทีมข่าวได้รับข้อมูลจากนักประมูลสินค้าแบรนด์เนมว่า การประมูลครั้งนี้ มีข่าววงในว่า มีการสับเปลี่ยนของกลาง จากของแท้เป็นของปลอม และเมื่อเปิดให้ดูนาฬิกาก็แน่ใจว่าเป็นของปลอม



การยึดล๊อตนี้เจ้าหน้าที่ไปยึดนาฬิกามาจากร้านย่านสยาม และหลังตรวจยึด ได้มีบริษัทที่กรมว่าจ้างได้ตรวจสอบและพบว่าเป็นสินค้าจริง 13 เรือน



ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่าจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน เพราะถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบ แบ่งขั้นตอนการสอบสวนเป็น 2 ส่วน คือ มีเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบว่าเกี่ยวข้อง จะตั้งคณะกรรมการสอบเอาผิดทางวินัย รวมทั้งดำเนินการตามมาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตด้วย



และต้องสอบสวนข้อเท็จจริงตามระเบียบของกรมศุลกากร ในกระบวนการตรวจค้นร้านขายสินค้าลักลอบเครื่องหมายการค้า ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีการจับสินค้า บริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเครื่องหมายการค้า จะต้องยืนยันกับกรมว่าเป็นสินค้าที่ถูกต้อง



พร้อมมีใบตรวจรับรองถูกต้อง ซึ่งนาฬิกาทั้ง 13 เรือน ก่อนที่จะประกาศขายทอดตลาด โดยได้รับการยืนยันจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์และออกใบแล้วว่าเป็นสินค้าถูกต้อง จึงปล่อยให้มีการประมูลออกไป



แต่เมื่อมีการประมูลและนำมาตรวจสอบ กลับพบว่าเป็นสินค้าปลอม บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงได้แจ้งด้วยวาจากับเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร ว่าเป็นสินค้าที่ปลอมเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า จะดำเนินการตามกฎหมาย กลับบริษัทตรวจสอบได้หรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้ ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งกับผู้ที่ประมูลสินค้าที่ขายทอดตลาดไป รวมทั้งความเสียหายต่อกรมศุลกากรด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News