สังคม
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ พร้อมส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ แม้เปลี่ยนตัวหัวหน้าแต่โครงสร้างเหมือนเดิม
โดย panisa_p
26 พ.ค. 2566
151 views
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พลเอกวัลลภ รักเสนาะ แถลงผลสำเร็จของการปฏิบัติงานก่อนส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยทันทีที่นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดตำแหน่ง โดยระหว่างนี้การพูดคุยกับขบวนการ BRN ก็จะชะงักไปจนกว่าจะมีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชุดใหม่ ที่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หากเป็นไปตามนโยบายพรรคก้าวไกลที่จะให้ยกเลิกกฏหมายพิเศษ ยุบ กอ.รมน. หรือ ยุบ ศอบต. ก็ต้องให้เป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่หน่วยงานเหล่านี้เป็นโครงสร้างทางความมั่นคงที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้เตรียมคณะทำงานผลักดันสันติภาพชายแดนใต้ ตาม MOU ที่ทำไว้กับพรรคร่วมรัฐบาล
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำทีมแถลงผลการทำงานตลอด 3 ปี 8 เดือนที่ทำหน้าที่เพื่อส่งต่อการทำงานให้กับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งระหว่างนี้การพูดคุยกับขบวนการ BRN ต้องหยุดชะงักไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่และคณะพูดคุยชุดใหม่ ซึ่งตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและคณะจะสิ้นสุดเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี
พลเอกวัลลภ เปิดเผยว่า การทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข มีพัฒนาการที่ดี ทั้งสถานการณ์ความรุนแรงที่ลดลง และแผนข้อตกลงสันติสุข หรือ JCPP ที่เห็นชอบร่วมกับ BRN เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา ตั้งเป้าจะบรรลุข้อตลงภายในเดือนธันวาคม 2567 ก็อาจจะล่าช้าไปบ้างเพราะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งยินดีหากหัวหน้าคณะพูดคุยชุดใหม่จะเป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร แต่โครงสร้างการทำงานยังมี สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ และเป็นไปตามแผนความมั่นคงแห่งชาติปี 2566-2570 เชื่อมโยง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ พรบ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พรบ.บริหารจังหวัดชายแดน
นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะพูดคุย เปิดเผยว่า การยกเลิกกฏหมายพิเศษ มีการปรับลดจากกฏอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉิน มาใช้ พรบ.ความมั่นคงแล้ว 10 อำเภอ และตามแผนจะมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ในปี 2570
ขณะที่พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันด้วยว่า การบังคับใช้กฏหมายพิเศษที่ผ่านมามีเพื่อควบคุมสถานการณ์และปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้บริสุทธ์ที่ตกเป็นเหยื่อความนรุนแรง ซึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สงคราม ไม่ใช่พื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ แต่เป็นการก่ออาชญากรรมที่ละเมิดต่อกฏหมายของรัฐ ของกลุ่มคิดต่างที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ที่ผ่านมามีการปรับลดการใช้กฏหมายอย่างต่อเนื่อง มีการถอนกำลังทหารไปแล้วกว่า 25,000 นาย คงเหลือทหารในพื้นที่และปรับกำลังไปเป็นตำรวจและพลเรือนมากขึ้น ส่วนรัฐบาลใหม่จะมีแนวคิดที่จะถอนทหาร หรือ ยุบ กอ.รมน.ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามกระบวนการของกฏหมาย
ส่วนท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่หาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ต่างร่วมกันกำหนดให้กระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ใน MOU แต่ยังไม่คุยกันในรายละเอียด โดยนายพิธา พร้อมจะเป็นผู้นำและพรรคก้าวไกลมีบุคลากรที่จะผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้ว
แน่นอนว่าหากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะมีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขกลับมาเป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร และเปลี่ยนคำว่าสันติสุข มาเป็นการสร้างสันติภาพ ซึ่งในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็มีผู้ที่มีส่วนในการริเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพทั้งในส่วนพรรคเพื่อไทย ที่พลโท ภราดร พัฒนาถาบุตร พรรคประชาชาติ ที่มี พันตำเอกทวี สอดส่อง ที่เป็นอดีตคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพชุดแรกเมื่อปี 2556 และพรรคเป็นธรรม ที่มีนายกัณวีร์ สืบแสง ซึ่งมีนโยบายชัดเรื่องการสร้างสันติภาพและเป็นอดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติที่กำลังถูกจับตามองในขณะนี้