สังคม

เร่งหาแนวทางแก้วิกฤต 'ปลาลูกเบร่' ในทะเลสาบสงขลาเหลือน้อย

โดย panwilai_c

19 ก.พ. 2566

204 views

ปลาลูกเบร่หรือปลาซิวแก้วเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของพื้นที่จังหวัดพัทลุงแต่ปัจจุบันกำลังถูกคุกคามจากการทำประมงที่ผิดกฎหมายจนจำนวนของพวกมันลดลงอยู่ในภาวะวิกฤตชาวบ้านจึงหันมาหาแนวทางอนุรักษ์โดยร่วมกับคณะ ประมงมหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุงหาแนวทางเพาะพันธ์ปลาชนิดนี้ก่อนปล่อยกลับลงสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่หนึ่งและคาดว่าจะสำเร็จภายในสองปีนี้



ตลอดพื้นที่ราว 40 ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ในจังหวัดพัทลุง มีชื่อว่าทะเลสาบลำปำ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของปลาซิวแก้วชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านออกเสียงว่าปลาลูกเมล่ หรือ ลูกเบร่ ซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เท่านั้น



แต่มาวันนี้จำนวนของพวกมันลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากปริมาณปลาที่ชาวบ้านจับได้ในแต่ละวัน นั่นมาจากการทำประมงเกินขนาด



ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ เล่าว่า ปัญหานี้เกิดจากความต้องการทางตลาดและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นของปลาลูกเบร่ตากแห้ง จากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่กิโลกรัมละ 150 บาท เป็นกิโลกรัมละ 700 บาทในตอนนี้ ทำให้ชาวบ้านบางคนหันมาทำประมงแบบผิดกฎหมายแทนการยกยอที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม



ชาวบ้านจึงได้ร่วมทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ติดตามรูปแบบการกระจายตัวของปลาลูกเบร่ ตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ด้วยเครื่องมือ Average nearest neighbor จนพบว่า ปลาลูกเบร่การกระจายตัวแบบกลุ่ม หรือ คลัสเตอร์ เฉพาะปากคลองประ และ แนวชายฝั่งลำปำ รวมถึงพื้นที่ทะเลสาบตอนบนติดกับทะเลน้อยเท่านั้น โดยปัจจัยการอยู่อาศัยมักขึ้นกับคุณภาพของน้ำ ที่ต้องการน้ำสะอาดเสมอ ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างของปลาลูกเบร้จำนวนหนึ่งมาทดลองเลี้ยงในพื้นที่บ่อปิด ซึ่งพบว่ามีอัตรารอดอยู่ที่ร้อยละ 80



ผศ.ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะประมง มหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุว่า การจับและเลี้ยงปลาลูกเบร้ต้องทำด้วยวิธีการเฉพาะ เนื่องจากปลาชนิดนี้มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก และเสี่ยงต่อการตายได้ง่ายแม้ขึ้นจากน้ำเพียงไม่ถึง 10 วินาที



ปลาลูกเบร่ชุดแรกจำนวน 30 ตัวนี้ อยู่ในระยะเเรกของการศึกษา คือการทดลองเลี้ยงและการศึกษาพฤติกรรมการสืบพันธุ์ เพื่อเพาะขยายพันธุ์กลับสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่เพียงพอก่อนการทดลองในระยะต่อไป



ประชากรปลาลูกเบร่ในทะเลสาบสงขลาตอนนี้นับว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากปลาชนิดนี้มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ จึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความสะอาดของแหล่งน้ำ ซึ่งไม่เกิน 2 ปีนี้ทีมวิจัยอาจประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลาลูกเบร่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกระบวนการเหล่านี้ให้ผลที่ยั่งยืนกว่าวิธีการเดิม คือ การทุ่มงบประมาณไปกับการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาปล่อยลงสู่ธรรมชาติ และที่สำคัญตอนนี้ก็ยังไม่มีที่ใดสามารถเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ได้ ที่นี่จึงเป็นที่แรก



ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือการช่วยกันจัดทำพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของปลาลูกเบร่ และ สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าของปลาลูกเบร่ ก่อนที่พวกมันจะหมดไปจากธรรมชาติ

คุณอาจสนใจ

Related News