สังคม

เปิดพิรุธคดีสินบนอุทยานฯ หลัง 1 ในพยานอ้างเป็นเงินเช่าบูชาพระบรมรูปฯ

โดย panwilai_c

12 ม.ค. 2566

170 views

มีความคืบหน้า กรณีเจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานฯเข้าให้ปากคำ คดีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกจับฐานเรียกรับสินบนและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณี พบเงินกว่า 4 ล้านบาทในห้องทำงาน ซึ่งเมื่อวานนี้ มีพยานคนหนึ่งจากปัตตานี ที่มีชื่อบนซองเงิน ระบุว่าเงินสด 1 แสนบาท ในซองนั้น เป็นเงินค่าบูชาพระบรมรูปจำลอง รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีหน่วยงานอีกหลายหน่วย ในกรมฯนี้ ที่ต่างก็บูชาองค์พระบรมรูปจำลองนี้



แต่ข่าว 3 มิติ ได้ข้อมูลอีกด้านว่า โครงการดังกล่าวมีจริง เป็นพระบรมรูปที่จัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2539 และกรมฯนำมาให้เช่าบูชาอีก เพื่อหาเงินเข้ากองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯ แต่เงินเช่าบูชา ต้องโอนเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น และอธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ โครงการนี้ การนำเงินไปมอบหรือฝากไว้ จึงอาจไม่สมเหตุสมผล



เจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อบนซองธนบัตร 1 แสนบาท ในห้องอธิบดีกรมอุทยานฯ นำภาพเหล่านี้ไปเป็นหลักฐานประกอบคำให้การต่อพนักงานสอบสวน ตำรวจ ปปป.เมื่อวาน เพื่อยืนยันว่าเงิน 1 แสนบาทในซอง เป็นค่าเช่าบูชาพระบรมรูปจำลอง รัชกาลที่ 5 เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงิน เพื่อร่วมทำบุญ ไม่ใช่เงินเพื่อวิ่งเต้น เงินรักษาตำแหน่งหรือเงินสินบนใดๆ



ข่าว 3 มิติตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2539 กรมป่าไม้ ได้จัดสร้างพระบรมรูปจำลองขนาด 9 นิ้ว จำลองแบบมาจากพระบรมรานุสาวรีย์ที่กรมป่าไม้ เพื่อน้อมรำลึกพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ไว้สักการะบูชาเป็นสิริมงคล และนับจากปี 2539เป็นต้นมา กรมอุทยานฯซึ่งแยกตัวมาจากกรมป่าไม้ เคยเปิดให้ข้าราชการเช่าบูชา ตั้งแต่องค์ละ 5 พัน ต่อมาเป็น 1หมื่น บาท รายได้ส่วนนี้จะนำเข้า กองทุนสวัสดิการ กรมอุทยานฯเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตามโอกาสที่เหมาะสม โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ



ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมอุทยานฯหลายคน พยายามหารายได้เข้ากองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯ ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป เช่นการเปิดวิ่งมาราธอน เพื่อนำเงินค่าสมัคร เข้ากองทุนฯ กระทั่งอธิบคนล่าสุด นำพระบรมรูปจำลองที่ยังเหลืออยู่ของกรมฯ มาให้เช่าบูชาองค์ละ 1 หมื่น 5 พันบาท มีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทั้ง 16 แห่ง และอีก 5 สาขา และสำนักต่างๆในกรม แสดงความประสงค์จะเช่าบูชา



อย่างไรก็ตาม มีข้อหน้าสังเกตว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ แจ้งไปยังหน่วยงานในกรมฯระบุว่า ให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ของกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯโดยตรง พร้อมแจ้งเลขบัญชีไว้แล้ว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะผู้ร้องคดีอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้แสดงหลักฐานการแจ้งข้อมูลทางไลน์ ที่สื่อสารกับผู้รับผิดชอบโครงการนี้ว่า ให้โอนเงินเข้าบัญชีกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานฯ และให้ส่งยอดช่วงต้นเดือนธันวาคม แล้วส่งสลิปให้เพื่อเป็นหลักฐาน นำมารับองค์พระ



ในหลักฐานการสื่อสารดังกล่าว ยังอ้างอิงว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ที่นายชัยวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการ มีผู้ประสงค์เช่าบูชา 15 องค์ องค์ละ 1 หมื่น 5 พันบาท รวมเงิน 2 แสน 2 หมื่น 5 พันบาท โดยโอนเงินนี้ผ่านบัญชีกองทุนดังกล่าวแล้ว เมื่อ 10 ธันวาคม



นายชัยวัฒน์ ระบุว่ากรณีพยานคนหนึ่งอ้างว่าเงินในซองเป็นค่าเช่าบูชาพระบรมรูป ไม่น่าสอดคล้องกับความจริงที่ต้องโอนเงินเข้าบัญชีเท่านั้น หรือหากจะฝากเงินนั้นให้อธิบดี เพื่อนำไปเข้าบัญชีอีกรอบ ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำเช่นนั้น



นายชัยวัฒน์ ยังอ้างว่าเขารู้ว่าอาจจะมีคำตอบแบบนี้ออกมาจากผู้มีชื่อในซอง เขาจึงให้การกับตำรวจปปป.ไว้แล้วตั้งแต่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา พร้อมแนบหลักฐานไว้ด้วยเช่นกัน พร้อมระบุว่าผู้เกี่ยวข้องในซองเอกสาร ต่างรู้ที่มาของเงินนั้นดี



มีข้อมูลว่า ประเด็นเรื่องเงินเพื่อบูชาองค์พระ เงินช่วยช้าง และเงินทำบุญ เป็น 3 ประเด็น ที่มีผู้แนะนำให้พยานใช้ตอบคำถามพนักงานสอบสวน แต่พยานบางส่วนยังลังเล เพราะไม่สอดคล้องกับหน้าซองบางซองที่เขียนว่า VIP 70 เปอร์เซ็นต์ บางซองเขียนกำกับว่าเป็นสัดส่วนของเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน บางซองแจกแจง สัดส่วนเปอร์เซ็นของเงินในซองเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งข้อความดังกล่าว ไม่น่าใช่เงินเพื่อบูชาองค์พระรูปแต่อย่างใด



มีข้อสังเกตอีกวิธีสำหรับ การตรวจสอบเรื่องนี้ คือ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเมื่อการเช่าพระบรมรูปจำลอง ต้องโอนเงินเข้าบัญชีเท่านั้น ถ้าตรวจสอบในบัญชีของกองทุนแล้วพบว่ามีเงินโอนมาก่อนหน้านี้แล้ว เงินสดในซองที่อ้างว่านำมาเช่าพระก็น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News