สังคม

ถอดบทเรียน 'ซานติกา-เมาน์เทนบี' โศกนาฏกรรมซ้ำรอย กับปัญหาระบบความปลอดภัย

โดย panwilai_c

5 ส.ค. 2565

210 views

เพลิงไหม้ที่ผับเมาน์เทน บี อำเภอสัตหีบ เมื่อคืนนี้ ทำให้ถูกเปรียบเทียบกับกรณีเพลิงไหม้ที่ซานติกาผับ ย่านเอกมัย กรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ต่อเนื่องถึง 1 มกราคม 2552 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 67 คน มีผู้บาดเจ็บทั้งสาหัส และเล็กน้อยอีกเกือบร้อยคน และจากกรณีนั้น กระทรวงมหาดไทย ออกกฎกระทรวงเมื่อปี 2555 ว่าด้วยสถานบริการที่กำหนดให้ต้องมีระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม



หนึ่งในประเด็นที่ถูกกำหนดชัดเจน ในกฎกระทรวงดังกล่าว เช่น ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ ระบบการระบายอากาศ ที่ต้องมีมาตรฐาน และสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่บริการต้อง โดยสถานบริการต้องมีจำนวนทางออกและประตูทางออกไปสู่ทางไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคารตามที่กำหนด



อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสองเหตุการณ์นี้จะเห็นทั้งความแตกต่างและความเหมือนในแง่ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสีย นั่นคือทั้งเมาน์เทนบี และซานติกา ต่างก็เป็นสถานบันเทิงแบบผับ แต่ต่างกันตรงที่ซานติกา ซึ่งยื่นขออนุญาตเปิดผับโดยตรงและผู้บริหารถูกฏีกาตัดสินกระทำโดยประมาท ให้จำคุก และชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนกรณีเมาน์เทนบี ขออนุญาตเปิดเป็นร้านอาหาร จำหน่ายสุรา แต่ภายหลังต่อเดิม ดัดแปลง เปิดเป็นผับ โดยไม่ได้รับอนุญาต



ประกายไฟที่เป็นต้นเพลิง กรณีซานติกาผับ มาจากการจุดพลุไฟหน้าเวที จนไฟลุกติดเพดานและลามไหม้ไปทั่วอาคาร กรณีเมาน์เทนบี ก็มีประกายไฟมาจากเพดาน ตามมาด้วยระเบิดอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนจะลามไปทั่วอาคาร โครงสร้างภายในของซานติกา และเมาน์เทนบี มีการบุโฟมตามรูปแบบทั่วไปของร้านทีเปิดผับเล่นดนตรี ซึ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ได้เร็วเหมือนกัน



ประตูทางเขา-ออก ของซานติกาและเมาน์เทนบี ไม่เพียงพอต่อการระบายคนในกรณีฉุกเฉินเหมือนกัน โดยเฉพาะเมาน์เทนบี ที่นักดนตรีซึ่งเคยไปเล่นคอนเสิร์ตระบุว่าทางออกด้านหน้ามีบู๊ทเครื่องเสียง และเครื่องดื่มกีดขวาง



ทั้งสองกรณีมีผู้เสียชีวิตที่ประตูทางเข้าออก เหมือนกัน ซึ่งเกิดจากความชุลมุนระหว่างวิ่งกรูมาที่ประตู แม้ว่าทั้งซานติกาและเมาน์เทนบีผับจะมีประตูเข้าออก มากกว่า 1 แห่ง แต่ถูกระบุว่าไม่มีป้ายแจ้งทางออกฉุกเฉินที่ชัดเจนพอ เมื่อเกิดเหตุชุลมุนจึงกรูไปออกทางเดียว โดยกรณีซานติกา เสียชีวิตจากการสำลักควัน ขาดอากาศหายใจเพราะถูกเหยียบและทับก่อนจะถูกเพลิงไหม้ในภายหลัง



คดีซานติกา มีพนักงานอัยการเป็นโจท์ก และญาติผู้ตาย รวมถึงผู้บาดเจ็บรวม 57 คนเป็นโจทก์ร่วม ต่อมาโจทก์บางคนขอถอนฟ้องตั้งแต่ศาลชั้นต้น โดยศาลอนุญาต กระทั่งถึงชั้นฏีกา ที่ศาลพิพากษาจำคุก"เสี่ยขาว" หรือ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้บริหารซานติก้าผับ และ นายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทโฟกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ที่รับจ้างติดเอฟเฟกต์ คนละ 3 ปี



ปรับ บริษัทโฟกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ฐานะนิติบุคคลอีก 2 หมื่นบาท ทั้งให้ชดใช้โจทก์ร่วมที่บาดเจ็บ-เสียชีวิต ซึ่งแตกต่างกันตามที่มีการนำสืบรายได้ อายุ ของผู้ตาย หรือการขาดผู้อุปการะของครอบครัว ตั้งแต่ 2 ล้าน 6 ล้าน หรือ 8 ล้านบาท เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังมีผู้ฟ้องทางปกครอง ต่อกทม.ในฐานะผู้ออกใบอนุญาต และศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้กทม.จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ฟ้อง าย รวมกว่า 25 ล้านบาท



ส่วนกรณีเมาน์เทนบี คดีอยู่ระหว่างสอบสวน เบื้องต้นพบว่าเปิดโดยไม่มีใบอนุญาต, เปิดนอกเขตโซนนิ่ง, ต่อเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต และอยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงจากเบาะแสว่า มีตำรวจเป็นหุ้นส่วนสำคัญจริงหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News