สังคม

พบ รพ.เอกชน เริ่มเก็บค่ารักษาโควิดแล้ว แม้ยังไม่ถึงกำหนดถอดจาก UCEP

โดย pattraporn_a

15 ก.พ. 2565

297 views

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย วันนี้พบผู้ติดเชื้ออีก 14,373 คน ข้อมูลล่าสุดจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันกว่า 96% เป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมดแล้วในตอนนี้ โดยพบสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ระบาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าหลังจากนี้จะระบาดเร็วขึ้นอีกจนมาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด


ศบค. รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 14,373 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,177 คน และจากต่างประเทศ 196 คน


จนถึงขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,622,600 คน หายป่วยเพิ่ม 11,551 คน อยู่ระหว่างรักษา 132,728 คน แบ่งเป็นอาการหนัก 702 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 145 คน เสียชีวิตเพิ่ม 27 คน รวมสะสม 22,489 คน


สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดของวันนี้ 3 อันดับแรกยังเป็น กรุงเทพมหานคร 3,180 คน ตามมาด้วย สมุทรปราการ 887 คน และ ชลบุรี 548 คน


นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลสุ่มตรวจตัวอย่างของผู้ติดเชื้อกว่า 2,000 ตัวอย่างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอน กว่า 97.2% และสายพันธุ์เดลต้า 2.8 %


10 จังหวัดที่พบสายพันธุ์โอมิครอน มากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร /รองลงมาเป็นภูเก็ต และชลบุรี ที่พบระบาดเกิน 1,000 คนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา


ส่วนในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนมากพบการติดเชื้อโอมิครอนเกือบทั้งหมดคือ 99.4% ส่วนในไทย พบติดเชื้อโอมิครอน  96.4% คาดว่าอีกไม่นานจะครบ 100% จึงสรุปได้ว่าเชื้อโอมิครอนจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลต้าเกือบทั้งหมด


ขณะที่การเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์โอมิครอนในไทย พบ สายพันธุ์ย่อย BA.1 81.5% และเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2  18.5% ซึ่งมีแนวโน้มว่า BA.2 จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีหลักฐานว่า BA.2 แพร่ได้เร็วกว่า BA.1 แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดถึงความรุนแรงของโรค ต้องรอติดตามข้อมูลก่อน ซึ่งกรมวิทย์ฯ จะประสานกับกรมการแพทย์ เพื่อติดตามอาการผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2


ส่วนสายพันธุ์ เดลต้าครอน ที่มีข่าวระบาดในประเทศอังกฤษ 1 คนนั้น ต้องรอยืนยันจากระบบจีเสสก่อน ส่วนที่พบในประเทศไซเปรัสก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการณ์ ทางจีเสสได้ถอนข้อมูลออกไปแล้ว


อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ ระบุว่า หลังจากนี้ในการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน ซึ่งไม่ใช่การปกปิด หรือ บิดเบือนข้อมูล แต่ข้อมูลในการเฝ้าระวังมีเพียงพอแล้ว และอาจลดจำนวนการตรวจคัดกรองลง เนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น หลังจากนี้ หากมีอาการป่วย จึงจะค่อยตรวจและรักษา เหมือนไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่นๆ

คุณอาจสนใจ

Related News