สธ.ห้าม 8 ประเทศเข้าไทย สกัดโควิด 'โอไมครอน' ยันยังไม่พบในไทย

สังคม

สธ.ห้าม 8 ประเทศเข้าไทย สกัดโควิด 'โอไมครอน' ยันยังไม่พบในไทย

โดย passamon_a

28 พ.ย. 2564

171 views

วันที่ 27 พ.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวมาตรการป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์ 'โอไมครอน' ในประเทศไทย ว่าข้อมูลเบื้องต้นในทางระบาดวิทยาเรื่องความสามารถในการแพร่กระจาย ความสามารถในการหลบเลี่ยงวัคซีน และความรุนแรงของโรคยังไม่แน่ชัด


อย่างไรก็ตาม จากการติดตามใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูล ประเทศไทยจึงวางมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยการเดินทางเข้าราชอาณาจักร แบ่งเป็น กลุ่ม 1 ประเทศที่พบสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือโอไมครอน ใน 8 ประเทศ คือ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว และกลุ่ม 2 ประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศดังกล่าว ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขการเข้าสู่ประเทศดังนี้


กลุ่ม 1 ประเทศ 8 ประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูงที่พบสายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศของตนเอง ประการที่ 1 สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศแล้ว สั่งกักตัวจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประการที่ 2 ไม่อนุญาตให้คนที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศนี้เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 รวมถึงไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าสู่ราชอาณาจักรโดยระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ 27 พ.ย.เป็นต้นไป แปลง่าย ๆ คือ คนที่เดินทางจาก 8 ประเทศนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทย


กลุ่ม 2 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่เหลือ จะไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยในรูปแบบไม่กักตัว (Test & Go) ที่เดิมก็ไม่มีในรายชื่อ 63 ประเทศที่เราอนุญาตไปแล้ว รวมถึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในระบบ Sandbox ส่วนคนที่เข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานที่พักที่ราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องตรวจหาเชื้อ 3 ครั้งคือ วันที่ 1 วันที่ 5-6 และวันที่ 12-13


ในข้อปฏิบัติ คือจะไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากแอฟริกาใต้ที่นอกเหนือจาก 8 ประเทศ ลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ Test & go และ Sandbox ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนการเข้าในระบบกักตัวยังสามารถดำเนินการได้ โดยต้องกักตัวและตรวจหาเชื้อตามข้อกำหนด ซึ่งในภาคปฏิบัติได้แจ้งยังสายการบิน และประเทศต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการดังกล่าวแล้ว ส่วนคนที่เข้ามาแล้วให้ดำเนินการตามมาตรการที่ได้รับอนุญาตแล้วถึงวันที่ 15 ธ.ค. แต่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน


"ข้อปฏิบัตินี้จะใช้สำหรับผู้เดินทางที่เป็นชาวต่างชาติ แต่สำหรับคนไทย ตามระบบรัฐธรรมนูญไม่สามารถจำกัดคนไทยเข้าประเทศได้ ดังนั้น คนไทยเดินทางเข้าประเทศไทย แต่ต้องกักตัว 14 วัน" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ข้อมูลเดือน พ.ย.64 ผู้เดินทางมาจากแอฟริกาตอนใต้ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาด พบว่า ผ่านระบบต่าง ๆ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ประกอบด้วย บอตสวานา 3 ราย นามิเบีย 16 ราย แองโกลา 22 ราย มาดากัสการ์ 7 ราย เมอร์ริเซียส 27 ราย แซมเบีย 5 ราย เอสวาตินี 39 ราย เอธิโอเปีย 45 ราย โมซัมบิก 12 ราย มาลาวี 2 ราย แอฟริกาใต้ 826 ราย และซิมบับเว 3 ราย ทั้งนี้ ตรวจไม่พบเชื้อโควิด อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ดำเนินการใกล้ชิด


เรื่องนี้เราต้องประเมินสถานการณ์กันเป็นรายวันเพื่อให้มีการปรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสม กรณีการเดินทางมาทางอากาศนั้นไม่น่ากังวลนัก เพราะในจำนวน 63 ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยนั้นไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ แต่ที่ยังน่าห่วงคือการเข้าประเทศทางบก โดยเฉพาะตะเข็บชายแดน เราจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ จับสัญญาณการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน


เมื่อถามว่า ศบค.เพิ่งอนุญาตให้เปิดการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางเรือและทางบกเพิ่มเติม ดังนั้น จะต้องมีการทบทวนประเด็นนี้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า อันดับแรก ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามานั้นไม่มีประเทศจากแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาก็ยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว ประกอบกับมาตรการตรวจคัดกรองเข้มข้นในผู้เดินทาง ซึ่งต้องมีการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจ RT-PCR ทั้งลำ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหา ขณะที่การเปิดเข้ามาในประเทศผ่านทางบกนั้นก็นำร่องเพียงแห่งเดียวคือที่หนองคาย จึงยังไม่มีการทบทวนในส่วนนี้แต่ก็ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด


ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้คือนอกจากการป้องกันแล้ว วัคซีนก็สำคัญ ซึ่งทวีปแอฟริกาใต้ฉีดวัคซีนน้อยที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะร่วมมือกันให้ประเทศไทยปลอดภัย มั่นคงยิ่งขึ้น หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าท่านไม่มีข้อห้ามในการฉีดก็ขอให้มาฉีด ส่วนคนที่ฉีดแล้ว 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ในระดับที่ดีมากประมาณ 5-6 เดือน ดังนั้น คนที่ฉีดครบแล้วไม่ว่าจะเป็นสูตรใด ๆ รอฟังประกาศ สธ.ว่าจะมีการฉีดบูสเตอร์โดสให้แล้วเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูง ลดอาการหนักและเสียชีวิต วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่ง แต่มาตรการที่จะช่วยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นคือป้องกันตัวเองครอบจักรวาล คือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มข้นของสถานประกอบการต่าง ๆ


เมื่อถามว่ากรณีปรับให้ผู้เข้าประเทศระบบ Test & Go เมื่อเข้ามาให้ตรวจ ATK จะทบทวนหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า นั่นเป็น 63 ประเทศ Test & Go ซึ่งไม่มีประเทศในแอฟริกาแม้แต่ประเทศเดียว โดยที่ประชุมรับทราบและมีมติทวีปแอฟริกาไม่ให้เข้าระบบนี้ ซึ่งประเทศที่เข้า Test & Go ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้ และมีระบบเฝ้าระวังทั่วโลกและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อย่างฮ่องกงก็เป็นเคสนำเข้ายังไม่มีปัญหา เราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด


ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่มีอะไรดีกว่าการทำความเข้าใจ เพื่อตั้งสติในการรับมือ ไม่ตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ และต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ว่าจะรับมืออย่างไร ตามที่การประชุมองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ได้ยกระดับไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (variant of interest: VOI) ที่จากชื่อเดิม B.1.1.529 ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (variant of concern: VOC) โดยกำหนดชื่อให้ตามอักษรกรีก ว่า โอไมครอน โดยพบเมื่อกลางเดือน พ.ย.64 เริ่มต้นที่ประเทศบอสวานา และระบาดไปยัง 5-6 ประเทศ รวมถึงมีผู้เดินทางไป ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล


ข้อสำคัญคือบางคนที่ตรวจเจอเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วด้วย ระบบเฝ้าระวังของไทยที่ตรวจสายพันธุกรรมทั้งตัว โดยตรวจแล้ว 7 พันกว่าเคส รายงานข้อมูลเข้าจีเสส (GISAID) ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน แต่เราจะไม่ประมาทในการตรวจต่อไป ทั้งนี้ เวฟการเกิดไวรัสในแอฟริกาใต้ ที่มีสายพันธุ์เบต้า อำนาจการแพร่เชื้อไม่เยอะ สัดส่วนจึงไม่เยอะ จากนั้นก็มีเดลต้าเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็พบโอไมครอนที่เกิดเป็นประเด็น


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สาเหตุที่ยกระดับมาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลเนื่องจากมีการกลายพันธุ์มากกว่า 50 ตำแหน่งจากเดิมที่ไวรัสโควิด-19 มีตำแหน่งยีนส์กว่า 3 หมื่นตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่ที่สไปก์โปรตีน (Spike protein) เป็นโปรตีนหนามที่มาจับกับเซลล์มนุษย์และเข้าไปทำอันตราย โดยมีบางตำแหน่งที่เคยพบในสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่น ทั้งเดลต้า อัลฟ่า และเบต้า ซึ่งบางตัวมีอิทธิฤทธิ์ในการหลบภูมิ หรือดื้อต่อวัคซีน ขณะที่บางตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยเจอในตัวเก่า ๆ เลย เช่น เบต้า ที่กลายพันธุ์ใน 9 ตำแหน่ง แต่อันนี้กลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง จึงต้องจับตาว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในไทย ตรวจกันสัปดาห์ละ 400-500 ตัวอย่างตามเกณฑ์ พบว่ายังพบเดลต้าเป็นส่วนใหญ่และมีอัลฟ่า เบต้าเป็นส่วนน้อย ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ขอความร่วมมือให้ทุกประเทศในโลก ช่วยกันตรวจเพื่อหาว่าสายพันธุ์โอไมครอนไปถึงไหนอย่างไร แต่เท่าที่ทราบคือ สหรัฐอเมริกายังไม่พบ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าไวรัสตัวนี้ใช้การตรวจด้วย RT-PCR ตามปกติได้อยู่ และวัคซีนที่ใช้ตอนนี้ก็ยังป้องกันการเสียชีวิตได้ เนื่องจากคนฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายก็จะมีการกระตุ้นภูมิในการต่อสู้กับไวรัสได้


นี่เป็นสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์เฉย ๆ แต่ในโลกความเป็นจริง ส่วนอิทธิฤทธิ์ที่มีผลต่อการระบาด การติดเชื้อ ยังมีข้อมูลไม่มากพอ จึงต้องเฝ้าดูต่อไป พบว่าบางส่วนน่าจะเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น บางส่วนน่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร รวมถึงข้อมูลที่พบการตรวจเจอเชื้อ อยู่ในรอบ Ct ค่อนข้างต่ำ หมายถึงเชื้อค่อนข้างเข้มข้นในแต่ละรายที่ตรวจพบ ไม่ได้หายาก ดังนั้น ถ้าใครป่วยก็จะพบง่าย เนื่องจากเชื้อเยอะมาก สะท้อนว่ามันอาจจะมีการแพร่หรือติดเชื้อง่าย และเร็วขึ้น ซึ่งยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ต้องติดตามต่อ


นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เรามีการเปิดประเทศด้วยระบบไม่กักตัว Test & Go ใน 63 ประเทศทั่วโลก แต่ไม่มีประเทศต้นทางที่พบสายพันธุ์โอไมครอน ขณะนี้ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่เป็นผู้ตรวจหาเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้ส่งตัวอย่างทุกตัวที่ให้ผลบวกมาถอดสายพันธุ์ที่กรมวิทยฯ เพื่อให้รู้ว่า ผู้ที่เดินทางเข้าไทยแล้วพบผลบวกกว่าร้อยนั้น มีสายพันธุ์นี้หรือไม่ และจะเข้มงวดในการตรวจสายพันธุ์ในกลุ่มผู้เดินทางทั้งระบบไม่กักตัว หรือระบบแซนด์บ็อกซ์ต่อไป


สรุปได้ว่าโอไมครอน ไม่ใช่ลูกหลานของสายพันธุ์ VOC เดิมคือ เดลต้า อัลฟ่า เบต้า และแกมม่า ที่เป็นการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ ที่มีพ่อแม่มาจากอู่ฮั่น ดังนั้นนี่เป็นการกลายพันธุ์ใหม่ ข้อห่วงกังวล คือมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งโดยเฉพาะสไปก์โปรตีน 32 ตำแหน่ง ซึ่งอาจมีปัญหาได้ แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ ดังนั้นเราจะต้องร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในโลก ติดตามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อมีมาตรการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งระบบเฝ้าระวังของเราในทางแล็บมีมาตรฐานระดับโลก มีเพียงพอต่อสถานการณ์ ที่สำคัญคือมาตรการป้องกัน ยังใช้ได้อยู่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างยังใช้ได้อยู่


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/TzsTJHfxnp0



คุณอาจสนใจ

Related News