สังคม
ศูนย์จีโนมฯ เผยทั่วโลกจับตา 'เดลตาครอน XBC' โจมตีปอดแรงเท่าเดลตา แพร่เร็วเหมือนโอมิครอน
โดย thichaphat_d
14 พ.ย. 2565
1.6K views
วานนี้ (13 พ.ย. 65) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตอนมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิด และผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่ที่มีลักษณะเป็น Small wave หลังจากการปรับให้โรคโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65
เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากขึ้นด้วย
-------------
ด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ผ่านเพจ Center for Medical Genomics ว่า
"ระวัง “เดลตาครอน XBC” ลูกผสมระหว่าง “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” พบระบาดในฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย! กลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตามอง 'เดลตาครอน' ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด ปลายปีที่ 3 ซึ่งโอมิครอนกำลังอ่อนกำลังลง ดูเหมือน 'เดลตาครอน' หลายสายพันธุ์จะระบาดขึ้นมาแทนที่ เช่น XBC, XAY, XBA และ XAW โดยเฉพาะเดลทาครอน XBC มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิด สายพันธ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น มากที่สุดถึงกว่า 130 ตำแหน่ง
จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของ "เดลตาครอน" ประเมินว่าเป็นไวรัสโควิดที่มีศักยภาพในการโจมตีปอดอย่าง “เดลตา” และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือน “โอไมครอน”
เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา มีรายงานการตรวจพบ "เดลตาครอน" ในประเทศฟิลิปปินส์ระยะหนึ่งจากนั้นได้สูญหายไป ไม่เกิดการระบาดรุนแรงขยายวงกว้าง แต่มาในช่วงปลายปี 2565 กลับพบ “เดลตาครอน” ในประเทศฟิลิปปินส์อีกครั้งในรูปแบบของโควิดสายพันธุ์ XBC, XBA, XAY และ XAW ระบาดขึ้นมาใหม่
ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด(worst-case scenario) ลูกผสมเดลต้า-โอไมครอนอาจมีอันตรายพอๆ กับสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งคร่าชีวิตผู้ที่ติดเชื้อไปประมาณ 3.4% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอไมครอนเกือบสองเท่า
แต่การทำนายความรุนแรงของสายพันธุ์ลูกผสมหรือสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเหตุใดโอมิครอนจึงดูเหมือนจะก่อโรคโควิด-19 รุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเดลตา
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมโควิด-19 จึงเปลี่ยนจาก “โรคทางเดินหายใจส่วนล่าง” ในช่วง 2 ปีแรกที่เดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้าระบาดมาเป็น “โรคทางเดินหายใจส่วนบน” ที่มีความรุนแรงลดลงในปีที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือไปจากโปรตีนหนามซึ่งไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์ของมนุษย์และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
ประเทศไทยควรกังวล พราะประเทศฟิลิปปินส์หนึ่งในอาเซียนอยู่ใกล้ประเทศไทยขณะนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB จำนวนถึง 81 รายพร้อมไปกับพบลูกผสม XBC ใน 11 จังหวัด ถึง 193 ราย
พบลูกผสม XBB ใน
สิงคโปร์ 1137 ราย
อินโดนีเซีย 90 ราย
บรูไน 77 ราย
มาเลเซีย 32 ราย
ฟิลิปปินส์ 20 ราย
กัมพูชา 1 ราย
พบลูกผสม XBC ใน
ฟิลิปปินส์ 35 ราย
บรูไน 15 ราย
สิงคโปร์ 1 ราย
มาเลเซีย 1 ราย
-------------
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/iNVFrJf76LA