เร่งระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือน 4 จว.พร้อมรับมือ - เผยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก

สังคม

เร่งระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือน 4 จว.พร้อมรับมือ - เผยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก

โดย weerawit_c

26 ก.ย. 2564

969 views

เวลา 20.00 น. วันที่ 25 ก.ย. เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยกรมชลประทาน รายงานตัวเลข การปล่อยระบายน้ำ ลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ 2,287 ลบ.ม./วินาที แล้ว


ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุด บริเวณสถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 – 2,500ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าแม่น้ำสะแกกรัง จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ทั้งนี้ กอนช. มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการชะลอน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 27 – 30 กันยายน 2564


1. จังหวัดชัยนาท ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา

2. จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง และวัดเสือข้าม ตำบลประศุก วัดสิงห์ ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี

3. จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก

4. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)


ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้ทั่วประเทศมีฝนตกหนักรวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วย กทม.จึงได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ข้อ


ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้าดำเนินการก่อสร้างติดตั้งพนังกั้นน้ำแบบน็อคดาวน์ ความยาว 330 เมตร สูง 2.60 เมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง ซึ่งเป็นจุดต่ำและเป็นจุดอ่อนทุกครั้งที่น้ำท่วมใหญ่จะทะลักเข้าท่วมอุทธยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นมรดกโลก โบราณสถานสำคัญของประเทศและย่านธุรกิจสำคัญในเกาะเมือง คนงานต้องทำงานแข่งกับระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ระดมติดตั้งแนวบังเกอร์แนวพนังกั้นน้ำให้ทันน้ำเหนือที่ไหลหลากกำลังจะล้นตลิ่งเข้าท่วมได้ หากติดตั้งแล้วเสร็จไม่ทันในจุดนี้ก็มีแผนสำรอง โดยใช้ทำเป็นแนวคันดินป้องกันน้ำแทนและติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้รับมือด้วย


ด้าน คุณลุงเพิ่ม ควรผล อายุธ 71 ปี ชาวบ้านตำบลบางหลวงโดด อำเภอบางบาล ปลูกกล้วยไข่ กล้วยหอม เกือบ 2 ไร่ บอกพันธ์กล้วยที่ปลูกอยู่ได้รับแจกมาจากคุณสรยุทธ เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เก็บหน่อขยายพันธ์ปลูกขายเรื่อยมา มาปีนี้น้ำมาเร็วและขึ้นไวหน่อกล้วยที่ปลูกไว้จมน้ำหมดขุดหนีน้ำไม่ทัน ยังไม่รู้ว่าน้ำลดแล้วจะเอาหน่อที่ไหนปลูก ทำให้คิดถึงคุณสรยุทธให้มาช่วยเหลือลุงด้วยอยากได้หน่อกล้วยหากน้ำลดลงจะได้มีดไว้ปลูกไม่ต้องออกไปหาซื้อที่มีราคาแพง


ทั้งนี้ได้เผยข้อมูลปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่


- เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,857 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44 % ของความจุอ่าง ปริมาณที่ใช้การได้ 2,057 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 15% ของปริมาตรน้ำในอ่าง


- เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณ 4,032 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 42% ของความจุ ปริมาณที่ใช้การได้ 1,181 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12% ของปริมาตรน้ำในอ่าง


- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณ 515 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 54% ของความจุ ปริมาณที่ใช้การได้ 511 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53% ของปริมาตรน้ำในอ่าง


- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณ 739 ล้าน หรือ 79% ของความจุ ปริมาณที่ใช้การได้ 696 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 74% ของปริมาตรน้ำในอ่าง


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/pgS3shzJhp0

คุณอาจสนใจ