สังคม

สทนช. ยันเขื่อนเจ้าพระยา จะระบายน้ำไม่ให้กระทบปชช. - หลายพื้นที่ถูกน้ำหลากท่วม

โดย parichat_p

15 ต.ค. 2566

39 views

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยแผนการบริหารน้ำในลุ่มน้ำภาคกลาง โดยยืนยันว่าเขื่อนเจ้าพระยา จะระบายน้ำไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยระบุว่าปริมาณน้ำสะสมใน 4 เขื่อนใหญ่ มีสัญญาณดีขึ้น ส่วนจะเพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังหรือไม่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติจะประชุมหารืออีกครั้งปลายเดือนนี้ ขณะที่หลายจังหวัดเช่นลำปาง ยังมีน้ำหลากท่วม


น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท หลากเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำ บ้านเปียงใจ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ทำให้เดือดร้อนประมาณ 80 ครอบครัว นายอำเภอแจ้ห่ม พร้อมเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว โดยพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและทรัพย์สินถูกน้ำป่าพัดเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับอันตราย ส่วนที่บ้านม้าเหนือ ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ก็ได้รับความเดือดร้อนจากระดับน้ำในลำห้วยแม่ตาล ที่สูงขึ้น เช่นกัน


จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยมหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตำบลบางราย อำเภอบึงนาราง ประมาณ 15 ครอบครัว บางจุดระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร และท่วมขังมาแล้ว 2 สัปดาห์ ขณะที่ภาพรวมของจังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมถึง 10 อำเภอ โดยแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ยังอยู่ในระดับสูง แต่ที่อำเภอทับคล้อ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์ขณะนี้คลี่คลายแล้ว


จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพมุมสูง ทำให้เห็นภาพลำน้ำสีแดงที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ระบายเข้าคลองบางหลวง ลงแม่น้ำน้อยที่ผ่านหน้าวัดอินทาราม ตำบลวัดตะกู อำเภอบางบาล ซึ่งบริเวณนี้อยู่นอกคันกั้นน้ำ


ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่สีขาวทางด้านซ้าย เป็นทุ่งรับน้ำทุ่งผักให่ บางบาล มีแนวถนนของกรมชลประทานเป็นคันกั้นน้ำแบ่งเขต บริเวณนี้ถือเป็นแก้มลิงรับน้ำ


ตอนนี้น้ำจากคลองบางหลวง ไหลบ่าไปหาแม่น้ำน้อย ได้ล้นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างวัดตะกู กับคันกั้นน้ำ จนเอ่อเข้าท่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน และโรงเรียนวัดตะกู ทำให้แปลงผักนักเรียนจมน้ำทั้งหมด ผู้นำชุมชนได้เข้าไปช่วยย้ายอุปกรณ์การเรียนไปไว้ที่สูงแล้ว


เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งลงพื้นที่ติดตามการบริหารน้ำลุ่มน้ำภาคกลาง รวมถึงที่เขื่อนเจ้าพระยา ระบุว่าเขื่อนเจ้าพระยา จะระบายน้ำไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่เกินไปกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับท้ายเขื่อน ระหว่างนี้ได้เสนอให้หน่วงน้ำเหนือเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด


แนวทางการหน่วงน้ำขณะนี้คือ ผันน้ำเข้าไปเก็บในบึงบอระเพ็ดให้ได้ปริมาตรน้ำ 220 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพียงพอสำหรับทำนารอบ 2 ด้วย


ส่วน 4 เขื่อนใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่ต้องวางแผนใช้น้ำในห้วงเวลา 2 ปี ที่ยังมีปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยแผนการใช้น้ำดังกล่าว จะถูกน้ำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้

คุณอาจสนใจ

Related News