ลุยตรวจสอบ 'เสาไฟกินรี' อบต.ราชาเทวะ ป.ป.ท.เร่งรวบรวมหลักฐาน พบพิรุธเพียบ

สังคม

ลุยตรวจสอบ 'เสาไฟกินรี' อบต.ราชาเทวะ ป.ป.ท.เร่งรวบรวมหลักฐาน พบพิรุธเพียบ

โดย panwilai_c

11 มิ.ย. 2564

246 views

ข่าว 3 มิติ ยังตามต่อ กรณีการติดตั้งเสาไฟกินรีพลังงานโซลาร์เซลล์ ในพื้นที่ อบต.ราชาเทวะ ที่บางพลี สมุทรปราการ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เข้าตรวจสอบเรื่องนี้ พบพิรุธและมีข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เอกชนคู่สัญญา และความคุ้มค่าในการเบิกจ่ายงบประมาณ


แม้นายกอบต.ราชาเทวะ จะออกมาชี้แจงและยืนยันว่า โครงการนี้คุ้มค่า ผ่านการประชาคม จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทุกขั้นตอน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยที่หลายฝ่ายมองว่า การติดตั้งเสาไฟกินรีพลังงานโซลาร์เซลล์ ยังมีพิรุธที่ต้องตรวจสอบและลงรายละเอียด


คณะตรวจสอบ ทั้งจากสตง. และป.ป.ท.เขต 1 มาที่ทำการอบต.ราชาเทวะ รับฟังการชี้แจง และให้ผู้บริหารรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวกับโครงการทั้งหมด ตั้งแต่เสาต้นแรกปี 2556 จนถึงเสาต้นสุดท้ายในปีงบประมาณล่าสุด


นายธนวัฒน์ สนิทศักดิ์ดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 1 บอกว่า การตรวจสอบเบื้องต้น พบพิรุธหลายประเด็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง และความคุ้มค่าในเชิงภารกิจ ตามพระราชกฤษฎีกา ระเบียบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เสาไฟแบบเดียวกันแต่แยกเป็นหลายโครงการ เป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยที่ ป.ป.ท.กำลังตรวจสอบ เท่าที่ค้นดูในระบบ พบว่า แต่ละโครงการตั้งงบประมาณไม่เกิน 200 ล้านบาท เพราะถ้าเกินกว่านั้น จะเกินอำนาจของนายก อบต.ที่จะอนุมัติได้


ข่าว 3 มิติ พบว่า ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการติดตั้งเสาไฟกินรีไปแล้วไม่น้อยกว่า 10 โครงการ มีรายงานว่า ทั้งตำบลราชาเทวะ มีประชากรอยู่ราว 15,185 ครัวเรือน จนถึงตอนนี้มีเสาไฟติดตั้งไปแล้วไม่น้อยกว่า 11,300 ต้น ที่น่าสนใจก็คือเสาทุกต้น มีเอกชนคู่สัญญาเพียงแห่งเดียว คือ บริษัทบางกอกไฟถนน และในประเด็นนี้เอง ที่ทำให้องค์กรหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริต ออกมาเคลื่อนไหว ตั้งคำถามความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งสงสัยว่าอาจล็อคสเปก เพื่อให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้งาน


เช่นเดียวกับ CSI LA พบพิรุธในเอกสาร ตั้งข้อสังเกตการเสนอราคาของเอกชน ในเอกสารจะเห็นว่า ผู้ที่ให้ราคาต่ำสุด คือบริษัททรัพย์เจริญยิ่ง โดยเสนอต่ำกว่า 100 ล้าน แต่ผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ กลับเป็นบริษัทบางกอกไฟถนน ทั้งที่เสนอราคาสูงกว่าหลายล้าน ในขณะที่กรรมการ TOR 3 คน ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม มีแต่การเงินกับพัสดุ ทั้งที่เป็นโครงการใหญ่ และมูลค่าหลายร้อยล้าน


ข่าว 3 มิติ เข้าไปดูในข้อกำหนดเพิ่มเติม พบพิรุธในข้อ 3.1 ระบุว่า ผู้เสนอราคา จะต้องนำตัวอย่างอุปกรณ์มาทดลองติดตั้งจริง ในสถานที่ที่กำหนดเพื่อให้กรรมการพิจารณา ภายใน 1 วัน นับจากวันเสนอราคา พร้อมกับแจกแจงรายละเอียดอุปกรณ์ จากเงื่อนไขที่อบต.ราชาเทวะตั้งขึ้นมานี้ จึงถูกมองว่า อาจเข้าข่ายล็อคสเปคเอื้อให้บริษัทที่เลือกไว้แล้วหรือไม่


ป.ป.ท.ยืนยันจะตรวจสอบในทุกมิติ ที่ประชาชนตั้งคำถาม เช่น ติดตั้งในจุดที่มีไฟส่องสว่างของการไฟฟ้าติดตั้งอยู่แล้ว ความถี่ที่มากเกินความจำเป็น การปักเสาในที่เอกชน ในพื้นที่รกทึบที่ไม่ค่อยมีคนสัญจร หรือแม้แต่บึงน้ำก็มีเสากินรีปักอยู่ด้วย จากนี้จะรวบเอกสารหลักฐานทั้งหมด ส่งให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้ขาด ทุจริตหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News