เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ มอบนโยบายแก้หนี้นอกระบบ ลั่นการค้าทาสยุคใหม่ต้องหมดจากประเทศไทย

โดย nutda_t

8 ธ.ค. 2566

74 views

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย “วาระแห่งชาติ” การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยทันทีที่มาถึง นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลตำรวจเอกธนา ชูวงษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ

โดยภายในงานวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร ทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบ

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงานทุกที่เข้ามามีส่วนร่วม

“วันนี้ผมไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ผมนะครับ ผมมาขอแรงจากทุกท่านทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่ หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเราจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิต เพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่ พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผมเชื่อมั่นว่าพวกท่าน สามารถช่วยพี่น้องประชาชน ให้มีอิสรภาพ ต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพวกเขาได้ ตนในฐานะนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทุกคนคงทราบกันดีว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม เรื่องนี้ตนได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และ ครม. ก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ที่แล้วระหว่างที่ไปประชุม ครม.สัญจร ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในวันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงและผู้นำหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศ มารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ ผมจึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้และทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของตนหรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน

สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน การลงทะเบียนที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทั้งหมด วันนี้ เราทำต่างจากที่เคยทำมาในอดีต โดยได้บูรณาการช่องทางให้หลากหลาย ช่องทางแรกคือกระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังมีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้ โดยหลังรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะมีการประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนจะได้รับเลข Reference Number เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง สามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ขอให้ทุกคนร่วมกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันสื่อสาร เชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียน ทั้งการทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อค เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ

หลังจากเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ หากพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่าองค์ประกอบความผิดครบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้

สำหรับการดำเนินการทั้งหมดรัฐบาลจะมีการติดตามผล หากยังพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้งหากพบว่ายังมีการข่มขู่ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ย จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

พร้อมยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ แต่ขอย้ำว่านี่เป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นการไกล่เกลี่ย การให้คำแนะนำ และการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ

และขอให้เจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย ขอให้ทุกท่านทำงานร่วมกันใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามที่พวกท่านถืออยู่ตามกฏหมาย ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ในส่วนที่ตนอยากจะลงรายละเอียดให้มากขึ้น คือขั้นตอนที่ตนเข้าใจว่าในทางปฏิบัติมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ “การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท” ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ การคิดดอกเบี้ยหนี้สิน และเป็นทั้งศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ อาจใช้“ไม้อ่อน” ในการเชิญชวนเพื่อให้สมัครใจเข้ามาสู่กระบวนการ และในหลายๆครั้ง ท่านอาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฏหมายในการบังคับ ซึ่งเป็น “ไม้แข็ง” ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ


ขณะเดียวกันประกาศเป้าหมาย ว่าหนี้นอกระบบจะต้องได้รับการจัดการขั้นเด็ดขาด ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เหมาะสม และกรอบเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน ไม่ตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป” จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  นายกรัฐมนตรี ,หนี้นอกระบบ

คุณอาจสนใจ

Related News