เลือกตั้งและการเมือง

สื่อนอกตีข่าว 'การเมืองไทย' เพื่อไทยแยกทางก้าวไกล ผลักเป็นฝ่ายค้าน ยันไม่แตะ ม.112

โดย passamon_a

3 ส.ค. 2566

966 views

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.66 สื่อต่างประเทศ รายงานสถานการณ์การเมืองไทย ภายหลังพรรคเพื่อไทยประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน


สำนักข่าว TRT World ของตุรกี เสนอข่าว Coalition aiming to form Thai govt kicks out winning party from alliance ระบุว่า แม้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 พรรคก้าวไกลจะได้ที่นั่ง สส. มาเป็นอันดับ 1 จากการสนับสนุนของคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชากรในเขตเมืองที่เบื่อหน่ายกับยุคสมัยที่รัฐบาลอยู่ภายใต้การหนุนหลังจากกองทัพนานเกือบทศวรรษ แต่ก็ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้สำเร็จ


ซึ่งในการเลือกนายกฯนั้น จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 คน ของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ประกอบด้วย สส. 500 คน และ สว. 250 คน รวม 750 คน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สว. นั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลทหาร โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนน 324 เสียง ในการโหวตครั้งแรก และมี สว. เพียง 13 คน ที่ยกมือสนับสนุน ต่อมาพิธายังถูกขัดขวางไม่ให้ถูกเสนอชื่อโหวตนายกฯเป็นครั้งที่สอง และถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการเป็น สส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้กฎหมายไทย


ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคเพื่อไทยซึ่งได้จำนวน สส. มาเป็นอันดับ 2 จึงได้โอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และหลังจากหารือกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในที่สุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย และพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคในการโหวตเลือกนายกฯ


ทั้งนี้ สื่อตุรกียังรายงานด้วยว่า พรรคเพื่อไทยถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของตระกูลชินวัตร ซึ่งมีสมาชิกเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี 2 คน และทั้งคู่เคยถูกกองทัพทำรัฐประหารยุติอำนาจในปี 2549 และ 2557


ด้าน เว็บไซต์ นสพ. Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น เสนอข่าว Pheu Thai splits from Move Forward to secure PM vote for Srettha ระบุว่า ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อันเป็น 2 พรรคที่ได้ที่นั่ง สส. มากที่สุด จับมือกับพรรคอื่นอีก 6 พรรค ในแนวร่วมสนับสนุนประชาธิปไตย แต่นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการแก้ไข ม.112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเส้นสีแดงที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับทั้ง สว. และ สส. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะยอมให้ก้าวข้าม


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรร่วมปฏิเสธถึง 2 ครั้ง โดยขาดการสนับสนุนอยู่ถึงประมาณ 50 เสียงในการโหวตนายกฯ รอบแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 และรัฐสภาปฏิเสธการเสนอชื่อของเขาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 ทำให้พรรคก้าวไกลยอมให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เจรจากับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งทุกพรรคประกาศจะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ในว่าที่รัฐบาลชุดใหม่


ความจริงใจต่อพรรคก้าวไกลของพรรคเพื่อไทยถูกตั้งคำถามตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทยคืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดน และมีแผนเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค.66 แม้จะต้องรับโทษจำคุกในข้อหาทุจริตก็ตาม ในการแถลงข่าววันที่ 2 ส.ค.66 พรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า กำลังดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่รัฐบาลประชาธิปไตยปกติ และเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะคืนอำนาจให้ประชาชนหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว


นอกจากนั้น พรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบายที่เคยตกลงร่วมกันโดยพันธมิตร 8 พรรค ที่มีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วยก่อนหน้านี้ เช่น สมรสเท่าเทียม การเปิดเสรีสุรา การกระจายอำนาจของรัฐบาล การยกเลิกการผูกขาด และการยุติการบังคับเกณฑ์ทหาร


อนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ดูจะคล้ายกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งแม้พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่ง สส. มากที่สุด แต่กลายเป็นบรรดาพรรคการเมืองคู่แข่งร่วมกับ สว. ที่รัฐบาลทหารแต่งตั้ง โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้ทำรัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2557 กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย


ขณะที่ เว็บไซต์ นสพ. The Straits Times ของสิงคโปร์ เสนอข่าว Thaksin-linked party plans new bloc to form Thai govt without election winner ระบุว่า ในวันที่ 2 ส.ค.66 พรรคเพื่อไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า จะจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อยุติทางตันทางการเมืองที่เกาะกุมประเทศไทยตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือน พ.ค.66 โดยการตั้งรัฐบาลหลังจากนี้จะไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย


การเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ พรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง สส. มากที่สุด ขณะที่พรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับ 2 ขณะที่โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคจะแสดงความคิดเห็นหลังจากการประชุม สส. ของพรรคเสร็จสิ้น ในวันที่ 2 ส.ค.66 เช่นกัน ด้าน เชาว์ฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยโทรศัพท์มาแจ้งว่า พันธมิตร 8 พรรคที่เคยทำข้อตกลงร่วมกันไม่มีพรรคก้าวไกลแล้ว


สื่อสิงคโปร์ กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลถูกสกัดกั้นอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่าด้วยความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนการแก้ไข ม.112 แต่จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง


พรรคก้าวไกลผงาดขึ้นอย่างโดดเด่นด้วยการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อยจำนวนมาก ที่ประท้วงนานหลายเดือนเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังมาตั้งแต่ปี 2563 จนล่าสุดในวันที่ 2 ส.ค.66 ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลหลายร้อยคนรวมตัวกันในกรุงเทพฯ ใช้ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เพื่อแสดงการต่อต้านการกีดกันพรรคจากความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/SOgu76oO3dE

คุณอาจสนใจ

Related News