เลือกตั้งและการเมือง

'ชัชชาติ' ใส่ชุดสีกากี ประเดิมประชุมผู้บริหาร - 'บิ๊กป๊อก' เชื่อมั่น กรุงเทพฯไปได้ดี เพราะมีผู้ว่าฯชื่อชัชชาติ

โดย thichaphat_d

7 มิ.ย. 2565

127 views

วานนี้ (6 มิ.ย. 65) ที่ห้องประชุมและวางแผน อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2565 นำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร


ภายหลังการประชุมร่วมกัน นานกว่า 3 ชั่วโมง นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มีการหารือ 4 เรื่องหลัก เรื่องแรกเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด และเรื่องการถอดหน้ากากอนามัย ที่ตอนนี้พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงไปมาก รวมถึงอัตราการครองเตียงก็ลดลงและยังมีเตียงว่างอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยต้องรอมติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อีกครั้ง แต่ในใจก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว แต่การตัดสินใจต้องรอ ศบค. เป็นหลัก อีกทั้งเรื่องนี้ต้องคุยกับกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่งด้วย


รวมถึงมีการหารือเรื่องโรคฝีดาษลิงซึ่งเป็นโรคติดต่อ แต่ก็ยังไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่มีการจัดกิจกรรมฉลองเทศกาลไพรด์ที่ถนนสีลม ซึ่งมีคนมาจำนวนมากทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องโรคนี้ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขรายงานในประเทศไทย และการติดต่อของโรคก็คนละรูปแบบกับโควิด ตนจึงมีคำสั่งให้ดำเนินตามมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไปเพราะยังเป็นข้อกังวล


ส่วนข้อกังวลเรื่องกิจกรรมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า ได้ให้ ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามดูตัวเลขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทุกคนป้องกันตนเองและระมัดระวังเป็นอย่างดี


สำหรับกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยเรื่องการจัดกิจกรรมของ กทม. ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ว่าอาจเกิดคลัสเตอร์ได้ นายชัชชาติ กล่าวว่าต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่แสดงความเป็นห่วง ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามสถานการณ์และต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่อง โดยกำชับให้ ผศ.ดร.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขคอยสังเกตตัวเลขว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่


โดยตนเองมองว่าเป็นก้าวที่ค่อยๆ เข้าสู่ชีวิตปกติ และทุกคนที่มาก็สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ จากนี้ต้องรอติดตามตัวเลขว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เห็นคลัสเตอร์อะไรมาก แต่ก็มอนิเตอร์อย่างเข้มข้น


สำหรับวาระที่สองของการประชุมเป็นเรื่องงบประมาณ นายชัชชาติ กล่าวว่า ใกล้จะเปิดสภากรุงเทพมหานครเป็นทางการ ฉะนั้นงบประมาณประจำปี 2566 จะต้องรีบทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งเข้าสภาพิจารณา ซึ่งบางส่วนได้จัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว จากนี้เป็นขั้นตอนของการปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ของคณะ และมีการพิจารณาถึงงบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่ด้วย


ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจากนี้อาจจะถูกจับจ้องเรื่องการใช้งบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่าไม่ได้กังวลอะไร และจากรายงานงบประมาณกลางมีอยู่เป็นพันล้านบาทที่ยังสามารถใช้ได้ ส่วนอีก 4 พันกว่าล้านบาท คือที่เหลืออยู่แต่มีข้อกำหนดว่าจะใช้อะไร


ส่วนวาระที่สามของการประชุมคือเรื่องของยุทธศาสตร์ จากนี้ต้องมีการประเมินว่าแผนที่นำเสนอไปทั้ง 214 แผนจะสามารถปฏิบัติเลยได้หรือไม่ ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่าแผนทั้ง 214 ข้อค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ กทม. มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนนี้ไม่ได้มีข้อกังวลอะไรเพราะเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เลย ในส่วนที่มีงบประมาณอยู่แล้วก็สามารถดึงมาใช้ได้ เพราะมีข้อมูลว่าหลายโครงการมีความสอดคล้อง ส่วนโครงการไหนที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ก็อาจจะต้องนำไปใส่ในส่วนของงบประมาณปี 2566 แต่ส่วนไหนที่เริ่มได้ก็จะทำเลย เช่น ปัจจุบันนี้มีนโยบายเรื่อง Zero-Based Budgeting หรือการทำงบประมาณจากศูนย์ ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ


โดยในการประชุมวันนี้ได้เชิญ ผศ.ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดความรู้เพื่อให้คณะผู้บริหารมีความเข้าใจตรงกัน ฉะนั้นสัปดาห์นี้เป็นการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการจัดการงบประมาณ


ส่วนประเด็นสุดท้าย เป็นการหารือเรื่องสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย นายชัชชาติ กล่าวว่า มีนโยบายที่จะทำจุดบำบัดน้ำเสียในชุมชนให้มากขึ้น โดยจะเน้นการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในชุมชน เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าหลายชุมชนมีการเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำเสีย และเน้นการสร้างโครงการแบบเส้นเลือดฝอยมากขึ้น เพราะการสร้างบ่อบำบัดขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลามากถึง 11 ปี เบื้องต้นกระจายให้แต่ละเขตไปทำแผนว่าจะสามารถทำบ่อบำบัดน้ำเสียในจุดใดได้บ้าง


นอกจากนี้นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า หลาย ๆ เรื่องไม่ได้เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่จะใช้เงินจำนวนมาก และเราไม่ได้ตั้งใจมาใช้งบประมาณ แต่เข้ามาเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด อย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชันก็สั่งให้แต่ละหน่วยงานไปสำรวจความโปร่งใสในตัวเอง ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่สามารถปรับปรุงวิธีคิดในการให้บริการได้


นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การพูดคุยอีกเรื่องในที่ประชุมคือเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยให้การบ้านผู้บริหารแต่ละเขตทุกสำนักไปสำรวจว่า หน่วยงานของตัวเองมีจุดอ่อนหรือช่องโหว่ใดตรงไหนที่ทำให้เกิดการทุจริตได้บ้าง และอีกหนึ่งสัปดาห์ให้กลับมานั่งคุยกันเพื่อปรับจูนให้เข้ากับแนวคิดขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า “หน่วยงานต้องยอมรับในตัวเองก่อน จะได้รู้ว่ามีปัญหาตรงไหน แล้วเรามาช่วยกันแก้ไข ฝากไว้เป็นการบ้านให้ทุกคนได้ช่วยกัน ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญให้เวลาอาทิตย์หนึ่ง”

----------
ต่อมาเมื่อเวลา 12.33 น. นายชัชชาติได้เดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหาร ตึกสำนักการโยธา แบบเรียบง่าย เนื่องจากต้องเตรียมพร้อมต้อนรับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งแรก ในเวลา 13.30 น.วันเดียวกัน

----------

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร​ แม้จะไม่ได้เป็นสก. แต่เป็นหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย​ กทม.พรรคก้าวไกล​ เดินทางมาพร้อม สก.​ ของพรรคก้าวไกล จำนวน​ 14​ คน​


​วิโรจน์​กล่าวว่า ที่มาวันนี้เพื่อ​ขับเคลื่อน​นโยบาย กทม.โดยมอบหมายให้นางสาว​ภัทรภรณ์ เอกรุ่งเรืองชัย​ สก.​ เขตบางซื่อ ทำหน้าที่โฆษก​คณะทำงาน สก.ในนามพรรคก้าวไกล


โดยเตรียมนโยบาย 9 ข้อ​ ที่จะเสนอผลักดัน​ในที่ประชุม สภา​ กทม.​ ร่วมกับ​ ผู้ว่ากทม.ในการแก้ไขข้อบัญญัติ​ ประกอบด้วย​

1.​ การตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2. ถ่ายทอดสดการประชุมสภาเพื่อความโปร่งใส

3. การแก้ไขข้อบัญญัติ​ที่เกี่ยวกับ​ ปัญหาที่ดินรกร้างและการจัดเก็บป้ายภาษีอิเล็กทรอนิกส์​โดยเน้นไปที่ผู้ประกอบการ​รายใหญ่​ ให้ความเป็นธรรมผู้ประกอบการ​รายย่อย​ เป็นเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้กทมจัดเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

4. การจัดสรรงบประมาณ​ใหม่​ทั้งเรื่องการจัดการขยะและระบายน้ำให้เพียงพอกับการดูแลประชาชน

5. การกระจายงบประมาณ​ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

6. พิจารณา​งบผูกพัน​ที่ทำให้การก่อสร้างต่างๆยังไม่แล้วเสร็จ​เดินหน้าโครงการที่จำเป็น

7. การพิจารณา​บรรจุ​ครูพี่เลี้ยงศูนย์​เด็กเล็กเพื่อบรรจุให้เป็นลูกจ้างประจำให้ได้

8. เปิดแผนร่างสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุสัญญาสัมปทาน​รถไฟฟ้าสายสีเขียว

9. การแก้ไขระบบบำบัดกลิ่นโรงไฟฟ้าอ่อนนุชที่มีปัญหามลพิษ​ทางอากาศ​


วิโรจน์​ กล่าวเพิ่มเติมว่าทั้ง 9 ข้อมาจาก 12 นโยบายคนเท่ากัน​ ในเรื่องการแก้ไขการจัดเก็บรายได้มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ​รายใหญ่ที่หลีกเลี่ยง​การจ่ายเงิน​ ซึ่งจะไม่กระทบกับประชาชนที่จ่ายอยู่แล้ว​ โดยใช้สภากทม.ในการให้ความสำคัญการจัดสรรงบประมาณ​ อย่างเช่นการขุดลอกคู​คลอง ​1,980 คลองแต่ทำได้หลักสิบ​ เท่านั้นที่ต้องมารื้อ และจัดสรรกันใหม่ ​ซึ่งสะท้อนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในซอยและหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม​


ซึ่งก้าวไกลจะยกระบบสภากทม.​ ให้เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร​ ยืนยัน​ มีความจริงใจในการดูแลงบประมาณ​ ที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญและยึดโยงปกป้องผลประโยชน์​ของประชาชน​ เพื่อเกลี่ยงบประมาณให้มีความเป็นธรรมเพราะที่ผ่านมามีการกระจุกงบและตอบไม่ได้ว่า​ประชาชน​ได้ประโยชน์​เท่าไหร่​ เช่น​ พื้นที่สีเขียวที่งบประมาณไปลงที่สวนลุมพินี​เพียงอย่างเดียว​


ทั้งนี้ วิโรจน์ ย้ำว่า​ สก.​พรรคก้าวไกลเตรียมพร้อมวิเคราะห์​งบในประเด็น​สำคัญ และจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่จะแข็งขันการทำงานมากกว่า​ ประชาชนจะสามารถติดตามงบประมาณ​รายละเอียด​ในเขตตนเองได้

-----------

วานนี้ (6 มิ.ย. 65) เวลา 13.00 น. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร​นัดแรก​ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหาร กทม.รอให้การต้อนรับ​ ซึ่งนอกจากผู้บริหาร กทม.แล้ว การเปิดประชุมสภา กทม. เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) มี สก. เข้าร่วมทั้งหมด 45 คน จาก 45 เขต ที่ กกต.รับรองแล้ว / ยังเหลือ สก.อีก 5 เขต ที่ กกต.ยังไม่ได้รับรอง และไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. ได้แก่ เขตพญาไท เขตสายไหม เขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตวังทองหลาง


จากนั้นพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานคร และให้กำลังใจการทำงานแก่ผู้ว่าฯกทม.และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร


จากนั้น​เวลา​ 13.45 น.​ พลเอกอนุพงษ์​ เผ่าจินดา ให้สัมภาษ​ณ์กับสื่อมวลชน​หลังเปิดการประชุม​ สภากรุงเทพมหานครว่า วันนี้ได้มอบนโยบาย ให้กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหารือกับปลัดกรุงเทพมหานคร ถึงการเปิด สภากทม.


ซึ่งถือว่าเป็นไปอย่างเรียบร้อย ตามเงื่อนไขของกฎหมาย การพูดคุยวันนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการทำงาน ผู้ว่าฯได้บอกถึงเจตนาของการจะทำงาน เพื่อประชาชนเต็มที่ ซึ่งได้บอกไปว่ากระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง และจะทำงานเพื่อคนกรุงเทพ โดยยึดประชาชนเป็นหลัก ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น


ซึ่งผู้ว่าฯคนนี้เป็นที่ถูกใจของประชาชน คิดว่าการทำงานไม่มีปัญหา เมื่อประชาชนเลือกมาแล้ว ก็ต้องทำงาน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพมหานครและรัฐบาล ยืนยันไม่มีปัญหาแน่นอน กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกฎหมายมีอำนาจหน้าที่โดยไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากรัฐบาล มีแผนพัฒนาของตนเอง และสามารถขับเคลื่อนได้เลย แม้กระทั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายการทำงานของ ผู้ว่า กทม. และสภา กทม. ดังนั้นจึงไม่มีรอยต่อ และไม่จำเป็นต้องมีตัวเชื่อมหรือคนกลาง และหากต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ตนเองก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่


ส่วนเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้เป็นอำนาจของ กทม. ที่จะดำเนินการ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กทม. มีปัญหา และยังหาแนวทางแก้ไขไม่ได้ ก็ให้ คสช. ดำเนินการ ช่วยหาทางแก้ไข แต่ตอนนี้ แนวทางแก้ไขคือรอการเจรจา และนำเข้าในที่ประชุม ครม. ว่าจะเห็นชอบในแนวทางนั้นหรือไม่


เมื่อมีผู้ว่าฯคนใหม่ และสภา กทม.ใหม่ มาทำงาน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จะแจ้ง ครม. ให้ยกเลิกข้อเสนอเดิม และพิจารณาข้อเสนอของผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ทันที และย้ำว่ากระทรวงมหาดไทย จะให้ความร่วมมือกับผู้ว่า กทม. เพื่อยุติปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ค้างคามานาน


ทั้งนี้ พลเอกอนุพงษ์ ยังกล่าวว่า เชื่อมั่นว่ากรุงเทพมหานคร จะพัฒนาระบบการปกครองไปได้ดี เพราะมีผู้ว่า กทม. ที่ชื่อชัชชาติ เพราะมีความตั้งใจทำงาน ลงพื้นที่รับฟังปัญหาตลอด ทุกเรื่องก็ลงไปดูแลจัดการ เชื่อว่าผลจะต้องออกมาดีแน่นอน


เมื่อถามว่า ในวันที่ 3 มิถุนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ผู้ว่า กทม. ได้ทักทายกันอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงรัฐมนตรีหลายคน ก็มาร่วมแสดงความยินดีและไปถ่ายรูปกับผู้ว่า.กทม.คนใหม่ด้วย จะเป็นบรรยากาศการทำงานที่ดีต่อไปหรือไม่ พลเอกอนุพงษ์ กล่าวพร้อมกับหัวเราะ อย่างอารมณ์ดี ว่าตนเองก็เป็นประชากรอยู่ในกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯชัชชาติ บ้านช่องก็อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯ


ส่วนประเด็นขอเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศมาจากการเลือกตั้ง พลเอกอนุพงษ์ไม่ขอแสดงความคิดเห็น ในข้อเรียกร้องที่คนไทยอีกหลายจังหวัดเรียกร้อง เพราะประเด็นมันต่างกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหมือนกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่บริการประชาชน แต่ในพื้นที่อื่นไม่ใช่หน้าที่นั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เชื่อมต่ออำนาจจากส่วนกลางไปในพื้นที่ ยึดโยงกับพื้นที่คนละอำนาจกัน ตนเองจึงไม่ขอก้าวก่ายหรือให้ความเห็น


ทั้งนี้ บรรยากาศการพูดก่อนเดินทางกลับ นายชัชชาติได้ยกมือไหว้พลเอกอนุพงษ์ พร้อมกล่าวว่า “ตนเองสิ ที่ต้องฝากตัวกับรัฐมนตรีมหาดไทย ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีมหาดไทยมาอยู่ในการดูแลของผู้ว่า กทม.” พลเอกอนุพงษ์ จึงตอบว่า “บ้านผมอยู่เขตทวีวัฒนานะ ฝากไปดูแลด้วย”


สำหรับผลการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภากรุงเทพมหานครและรองประธานสภากรุงเทพมหานคร ผู้ได้รับตำแหน่งประธานสภา กทม. คือ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย / รองประธานสภา กทม.คนที่ 1 คือนางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ ส.ก.เขตคันนายาว พรรคเพื่อไทย /และรองประธาน กทม. คนที่ 2 คืินายอำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค พรรคก้าวไกล


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/TrijQTjSZAs

คุณอาจสนใจ

Related News