เลือกตั้งและการเมือง

ทำความรู้จัก ‘งบฯฐานศูนย์’ ใน MOU รัฐบาล ‘ก้าวไกล’ จัดงบแบบไม่อิงงบเดิม

โดย chutikan_o

23 พ.ค. 2566

779 views

ทำความรู้จัก ‘งบฯฐานศูนย์’ หนึ่งในหัวข้อ MOU รัฐบาล ‘ก้าวไกล’ จัดทำงบประมาณแบบไม่อิงงบปีก่อน พิจารณางบตามความสำคัญของนโยบาย


จากการแถลงวานนี้ (22 พ.ค. 2566) โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมหัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 7 พรรค ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับเนื้อหาภารกิจที่พรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันร่วมกัน ที่ระบุไว้ใน MOU ทั้งหมด 23 ข้อ หนึ่งในนั้นมีเรื่องจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการ “จัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)”




งบฯฐานศูนย์ คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร


เรื่องความหมายและขั้นตอนการปฏิบัตินั้น นายสุทธิชัย หยุ่น นักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจ อดีตผู้บริหารเนชั่น ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กอธิบายว่า งบฯฐานศูนย์ คือ กระบวนการจัดทำงบประมาณที่เริ่มต้นจาก “ฐานเป็นศูนย์” ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะต้องสมเหตุสมผลสำหรับแต่ละงวดใหม่ และจะวิเคราะห์ทุกฟังก์ชันภายในองค์กรสำหรับความต้องการและต้นทุน


จากนั้น งบประมาณจะร่างขึ้นจากสิ่งที่จำเป็นในรอบระยะเวลาที่กำลังจะมาถึง โดยไม่คำนึงว่างบประมาณแต่ละรายการจะสูงหรือต่ำกว่างบประมาณก่อนหน้า


ขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณ “ฐานเป็นศูนย์”: แม้ว่าการจัดทำงบประมาณเป็นศูนย์จะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับทั้งธุรกิจและของใช้ส่วนตัว แต่ขั้นตอนในการดำเนินการจะแตกต่างกันเล็กน้อย


ขั้นตอนการปฏิบัติ มีดังนี้:


ขั้นตอนที่หนึ่ง - เริ่มต้นด้วยศูนย์: อย่าดูการใช้จ่ายของปีที่แล้วหรือไตรมาสที่แล้วเป็นแนวทาง


ขั้นตอนที่สอง - กำหนดเป้าหมาย: ค่าใช้จ่ายใดที่จะช่วยให้บริษัทของคุณบรรลุเป้าหมายรายได้และการเติบโตสำหรับปีใหม่นี้


ขั้นตอนที่สาม - จัดลำดับความสำคัญและจัดลำดับการใช้จ่ายให้เหมาะสม: ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการต้องมีจุดประสงค์เท่านั้น แต่ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายที่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายมากที่สุด


ทีมบริหาร กทม.ของชัชชาติ ใช้แนวคิดงบฯฐานศูนย์เช่นกัน


ขณะที่ทางทีมบริหาร กทม. ก็ใช้แนวคิดงบประมาณฐานศูนย์เช่นกัน โดย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เเละนักวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติ การจัดการเครือข่ายสังคม กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ว่า การบริหารของงบประมาณ 2565 ในไตรมาสสุดท้ายจะใช้ให้มีประสิทธิภาพและนำเเนวคิดงบประมาณฐานศูนย์มาใช้


ด้าน ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ ผ่านเฟซบุ๊กว่า เราอาจไม่ได้เป็น Budgeting Zero-Based 100% แต่เราขอเป็นแค่ Enough Zero-Based Budgeting ผ่านการใช้เเผนงานเดิมโดยไม่ต้องสร้างแผนงานใหม่ หากนโยบายเเละแผนงานที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นมีประสิทธิภาพดีเเล้ว เพียงเเค่เพิ่มเติมรายละเอียดให้ลึกมากขึ้นเท่านั้น


การจัดงบแบบแผนโครงการ VS แบบฐานศูนย์


เเนวคิดการจัดการงบประมาณแบบแผนโครงการ (PPBS) และแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน การจัดการงบประมาณแบบแผนโครงการ ทำให้แผนดำเนินงานเกิดความต่อเนื่อง เน้นใช้ในการวางแผนระยะยาวเเละคำนึงถึงผลการดำเนินงาน เเต่การประเมินผลงานขาดความเป็นระบบ และมักเกิดความล่าช้าของเเผนงาน นำไปสู่การไม่บรรลุของวัตถุประสงค์


ส่วน การจัดงบประมาณฐานศูนย์ ใช้ในแก้ปัญหาข้อจำกัดทางทรัพยากร โดยไม่นำงบประมาณค่าใช้จ่ายในปีก่อนมาพิจารณาเลยและพิจารณางบในเเต่ละแผนงานใหม่อย่างละเอียด ได้เปรียบในเรื่องของความยืดหยุ่นที่มีมากกว่า สามารถจัดสรรงบประมาณได้ใหม่ตามความเหมาะสมของสถานการ์ณปัจจุบัน รวมทั้งง่ายต่อการเชื่อมโยงแผนงานและงบประมาณเข้าด้วยกัน แต่งบประมาณในเเต่ละเเผนงานต้องวิเคราะห์ใหม่ทุกปี


สรุปแนวคิดงบฯฐานศูนย์


งบประมาณแบบฐานศูนย์ ปรับเปลี่ยนฐานงบประมาณโดยเริ่มจากศูนย์ ทุกเเผนงานเเละนโยบายจะได้รับการพิจารณางบใหม่ทั้งหมดอย่างละเอียด ซึ่งทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้ตามความสำคัญของนโยบายเเละสถานการณ์ในขณะนั้น รวมทั้งสามารถตัดแผนงานที่ไม่จำเป็นออกเเละตรวจสอบโครงการที่เบิกจ่ายงบประมาณที่สูงเกินจริง เนื่องจากมีการทบทวนงบประมาณของแต่ละโครงการอย่างต่อเนื่อง

คุณอาจสนใจ

Related News