เลือกตั้งและการเมือง

9 ปีที่รอคอย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.65 ข้อควรรู้ก่อนเข้าคูหา หากฝ่าฝืน ต้องรับโทษ

โดย thichaphat_d

17 พ.ค. 2565

83 views

9 ปีที่รอคอย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร 2565 เปิดข้อควรรู้ก่อนเข้าคูหา พร้อมทั้งข้อระวัง เพราะหากฝาฝืนจะต้องถูกลงโทษ

อีกไม่กี่วันก็จะถึงช่วงเวลาที่ชาวกรุงเทพมหานครหลายคนรอคอย วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ห่างหายไปนานกว่า 9 ปี และเพื่อให้ทุกท่านได้เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเข้าคูหา ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2565 ครั้งนี้ 3พลัสนิวส์ จึงขอสรุป ข้อปฏิบัติในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2565 ให้กับทุกท่าน

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 11 เพื่อหาผู้นำคนที่ 17 ของชาวกรุงเทพฯ ซึ่งในปีนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ถึง 31 คน มาพร้อมกับ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต

สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง มีสัญชาติไทย ส่วนผู้ที่แปลงสัญชาติมา ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ทั้งนี้ ก็มีบุคคลบางประเภท ที่เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ เป็นภิกษุ, สามเณร, นักพรต หรือนักบวช, ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่, ผู้ที่ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย, ผู้ที่วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และผู้ที่มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ขั้นตอนการเตรียมพร้อม สู่การลงคะแนนเลือกตั้ง

สำหรับวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 จะเริ่มเปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้ง เปิดตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. ซึ่งเราสามารถตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง และยื่นหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

ในครั้งนี้ ผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะได้รับ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ใบสีน้ำตาล และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ใบสีชมพู โดยต้องทำเครื่องหมายกากบาท (x) ลงในช่องเครื่องหมาย ซึ่งเลือกได้หมายเลยเดียวต่อแผ่นเท่านั้น แต่หากไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด ให้ทำเครืองหมาย กากบาท (x) ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด (มุมขวาล่างของบัตร)

และหลังจากลงกากบาทลงคะแนนเรียบร้อยแล้ว ต้องทำการพับบัตรเลือกตั้งตามรอยปรุให้เรียบร้อย แล้วหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบด้วยตนเองให้เรียบร้อย

ข้อห้าม และความผิดในการเลือกตั้ง

1. ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง ที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วย เพื่อลงคะแนน หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น มีกำหนด 20 ปี

2. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายอื่น นอกจากกากบาท (x) ในการลงคะแนนเสียงที่บัตรเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น มีกำหนด 10 ปี

3. ห้ามใช้เครื่องมือ ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง ขณะออกเสียงลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ห้ามให้ผู้อื่นนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งแทน โดยไม่มีอำนาจทางกฎหมาย หรือแอบอ้างชื่อเพื่อออกเสียงลงคะแนน เป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี

5. ห้ามแสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นทราบว่าได้เลือก หรือไม่เลือกผู้สมัครเบอร์ไหน หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ห้ามขาย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. วันเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. ห้ามเล่นพนันเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,402,944 คน จาก 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตา เนื่องจากกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ มานานถึง 9 ปี ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน เตรียมตัวให้พร้อม แล้วออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อกำหนดอนาคตกรุงเทพฯ


คุณอาจสนใจ

Related News