เลือกตั้งและการเมือง

สามนักวิชาการ อ่านปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” แลนด์สไลด์ บอกอะไรกับการเมือง

โดย paweena_c

26 พ.ค. 2565

507 views

สามนักวิชาการ อ่านปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” แลนด์สไลด์ บอกอะไรกับการเมือง  

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เอาชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ด้วยคะแนนมหาศาล ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 1.38 ล้านคะแนน หรือคิดเป็น 51.85 เปอร์เซ็นต์ จนถูกเรียกว่า “แลนด์สไลด์”

จึงเกิดคำถามว่า ชัยชนะในครั้งนี้สะท้อนอะไร หรือส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตยังไง 3PlusNews ชวนทุกท่านขบคิด และค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน

ครั้งนี้เราชวน นักวิชาการมาพูดคุย วิเคราะห์ว่า ผลที่ออกมาเช่นนี้หมายถึงอะไร และสะท้อนอะไร


ไม่ใช่แค่ “แลนด์สไลด์” แต่เป็น “ซูเปอร์แลนด์สไลด์”

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่แค่ “แลนลไลด์” แต่เป็น “ซูปเปอร์แลนด์สไลด์” เนื่องจากมีช่องว่างคะแนนของที่ 1 กับที่ 2 อยู่ที่ หนึ่งล้านกว่าคะแนน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนคะแนนที่ต่างกันถึง 6 เท่า

ยุทธพร มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ “ชัชชาติ”  ได้คะแนนอย่างถล่มทลายมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ คือ

1. ระบบบัตรเลือกตั้งที่มี 2 ใบ ทำให้เกิดการแยกเจตจำนงของผู้ลงคะแนนเสียง ที่อาจจะชอบพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า แต่ว่าก็ยังชอบ “ชัชชาติ”  จึงแจกคะแนนไปคนละแต้ม เลือก สก.พรรคที่ชอบ เลือกผู้ว่าคนที่ใช่

2. แนวทางการหาเสียงที่ไม่ได้สุดโต่งในอุดมการณ์มากนัก ทำให้ได้เสียงที่ข้ามขั้วอุดมการณ์ อาจไม่มากมาย แต่ก็มากพอที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถึง 1,386,215 คะแนน สูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

3. การหาเสียง โดยเปิดตัวมาล่วงหน้าตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว การปูฐานมาตั้งแต่การเป็น รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และการไล่เรียงหาเสียงในชุมชนต่าง ๆ ชู 200 นโยบาย เน้นแก้ปัญหาในชุมชนเป็นจุด ๆ แล้วร้อยเรียงเป็นภาพใหญ่ ทำให้เขาได้ฐานเสียงจากชุมชนไปไม่น้อย

4. ประการสุดท้ายคือ การสมัครแบบไม่สังกัดพรรคการเมือง ทำให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพรรคการเมืองมีน้อยลง แน่นอนว่าคงมีคำถามถึงความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย แต่เหล่านี้ก็ลดน้อยลงไป จึงถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ และได้คะแนนในลักษณะ “ซุปเปอร์แลนด์สไลด์”


บุคลิกส่วนตัว ไม่ขัดแย้ง พา “ชัชชาติ” คว้าฉันทามติ

ปรากฏการณ์นี้ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ชัยชนะของ “ชัชชาติ” ที่ชนะในทุกเขตการเลือกตั้งในกรุงเทพฯทั้ง 50 เขต เป็นภาพสะท้อนของผู้สมัครที่ได้รับการยอมรับ ที่เรียกว่า “ฉันทามติ” นอกจากในเชิงจำนวน 1.38 ล้านเสียงแล้ว ยังชนะในเชิงจำนวนพื้นที่ นั้นคือทุกเขตยอมรับ และให้ความเห็นชอบ

ซึ่งปัจจัยหลักที่ “ชัชชาติ” ได้คะแนนสูง รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่ามาจากบุคลิกที่เป็นกันเอง การเป็นนักการเมืองที่จริงจังจริงใจ แม้ในยามที่ถูกโจมตี ก็แก้ปัญหาได้อย่างนุ่มนวล ไม่ขยี้ความขัดแย้งมาเป็นผลประโยชน์ ด้านนโยบายเอง ก็สะท้อนให้เห็นว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำการบ้านและทราบถึงปัญหา แม้ว่าคนเลือกจะมั่นใจหรือไม่ก็ตามว่าจะทำได้ แต่ก็ยังอยากให้โอกาส เพราะถือเป็นคนแรกที่ประกาศตัวก่อน และมีความจริงจังจริงใจมาก

“บทบาทของนโยบาย ทำงานในเรื่องของการศึกษาค้นคว้า เตรียมความพร้อมมากกว่า ส่วนวิธีการสื่อสารนั้น ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นผู้นำทางการเมืองที่มีวุฒิภาวะ มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ และความเหมาะสม”

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า ปรากฏการครั้งนี้ เกิดการปักหมุดทางความคิดว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ในการเลือกผู้บริหาร “ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร” ได้ด้วยตัวเอง หลังจากผ่านมา 9 ปี แม้จะน่าเสียดายที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เพียง 60% น้อยกว่าที่คาดการณ์

แต่นั่นก็อาจเพราะคิดว่า อย่างไร “ชัชชาติ” ก็นอนมาอยู่แล้ว และปัจจัยฟ้าฝน หรือเรื่องอื่นใด แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้พรรคอิสระสามารถปักหมุดในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองในการแข่งขันเลือกตั้งของกรุงเทพฯนั้นเปลี่ยนไป


“ชัชชาติ” ไม่ทิ้ง “มีม” จนกลายเป็นภาพจำ

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ “ชัชชาติ” ที่มักจะถูกพูดถึงว่าเป็น “ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” และมักจะถูกนำภาพมาทำเป็นมีมล้อเลียนอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายได้อย่างน่าสนใจ ผ่านคำว่า “พุง(รอยยิ้ม)” โดยจะเห็นได้จาก การหาเสียงที่ผ่านมา ผู้สมัครแต่ละคน ก็ล้วนแต่แสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา แต่ถ้าสังเกตคุณชัชชาติ จะเห็นว่ามี “พุง” น้อย ๆ นิดหน่อย พอน่ารัก ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้พยายามปิดบัง บวกกับ “รอยยิ้ม” ที่มีแก้มหน่อย ๆ ซึ่งดูรวมกันแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์มองว่า “คล้ายตัวการ์ตูน”

“ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” คำที่คนมอบให้ ภาพจำที่ใส่เสื้อกล้ามสีดำเดินเท้าเปล่าถือถุงแกง แม้จะมีคนดูแคลนว่าไม่เห็นทำอะไรมากแค่ถือถุง แต่ศ.ดร.ชัยวัฒน์กลับมองว่า “ถือเป็นความสำเร็จ” เพราะ “ชัชชาติ” ไม่ได้โยนตัวการ์ตูนที่คนสร้างให้ทิ้ง แต่กลับเดินเข้าไปสวมตัวเองเข้า แล้วเดินออกมาในฐานะที่เป็นภาพจริงของตัวการ์ตูน โดยที่ไม่ต้องใช้มาสคอตเพื่อสร้างการจดจำ กลับกลายเป็นตัวเขาเองในแบบที่เขาเป็น

“ความเป็นตัวตนมันคืออะไร เวลาหาเสียงหรือให้สัมภาษณ์ เราพูดในสิ่งที่อยากให้ผู้ฟังได้ยิน หรือเราพูดในสิ่งที่ตัวเราเป็น นี่คือสิ่งที่ต้องเลือก การแสดงตัวตนก็มีความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญคือคุณจะผสานตัวตนที่ว่านี้เข้ากับปัญหาที่คนกรุงเทพฯ หรือคนในประเทศกำลังเจอ และให้มันอยู่ในลักษณะที่ไม่สูญเสียตัวตนของคุณยังไง”


จากเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เห็นอะไรในภาพใหญ่การเมืองไทย

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นจุดสำคัญในเชิงข้อมูล (Data point) ไม่ใช่ แนวโน้ม (Trend) เพราะถ้าจะเป็นแนวโน้มได้ ต้องมีจำนวน มีเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่านี้หลายที่ แต่ เหตุการณ์เดียวนี้ ก็ถือว่าสำคัญ

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชวนเรามองเหตุการณ์ ในฐานะจุดเชื่อมต่อ ระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมา  22 พฤษภาคม 2557 คืออดีต และอนาคตคือการเลือกตั้งระดับชาติที่รออยู่ ที่แม้ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ตาม

“ไหว้” คือคำที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชวนเราขบคิดกับคำนี้ และตั้งคำถามว่า “ถ้าผู้ว่าฯกทม.ที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ไหว้ประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา คำถามคือเขาควรไหว้ใคร” นานกว่าจะนึกออก ศ.ดร.ชัยวัฒน์เฉลยว่า “ไหว้ใครก็ตาม ที่กำหนดให้วันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2565”

“22 พฤษภาคม 2557 คือวันที่ประชาธิปไตยถูกขุดหลุมฝัง แม้ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่เพิ่งมีคราวนี้ที่การเลือกตั้งมี “ลมหายใจของของประชาธิปไตยที่เข้มข้น” ครั้งนี้ถือเป็นจุดแก้ตัวของเหตุการณ์ที่สำคัญ ว่าจะเลือกใครระหว่าง ฝ่ายที่ขโมยสิทธิเสรีภาพของเราไป และอีกฝ่ายที่เสนอว่าสิทธิเสรีภาพของเราสำคัญ”

ชัยชนะของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ เมื่อเชื่อมโยงไปถึงอนาคตคือการเลือกตั้งระดับชาติ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ เพียงยกข้อมูลมาอ้างว่า ภาพรวมของประเทศไทยตอนนี้ มีความเป็นเมืองมากขึ้น จากที่มีอยู่ 36% เมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% และบอกว่า “การเลือกตั้งคราวหน้า เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ที่เปลี่ยนจากชนบทเป็นเมืองมากขึ้น ซึ่งมันแปลต่อไปว่า ความปรารถนาของคนเมือง ไม่เหมือนกับความปรารถนาของคนชนบท”

ถ้าคิดตามที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ อ้าง การที่ “เมือง” กรุงเทพฯ มีผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นฝั่งขั้วตรงข้ามรัฐบาล ก็ถือเป็นจุดสำคัญในเชิงข้อมูลหนึ่งที่น่าจับตา ว่าสิ่งนี้จะสะท้อนได้ “เท่ากับ” ผลการเลือกตั้งระดับชาติในอนาคต ที่ความเป็น “เมือง” ในจังหวัดต่าง ๆ กำลังมีมากขึ้นด้วยหรือไม่


เลือกตั้งส่งผล “ประยุทธ์” ไม่ยุบสภาเร็ว ๆ นี้

“ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้น ไม่สะท้อนอะไรกับผม” คำให้สัมภาษณ์สื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังผลการเลือกตั้ง ชี้ชัดว่า “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครคนล่าสุด

แต่เรื่องนี้ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย มองว่า “สะท้อนแน่นอน” จริงอยู่ที่ว่า เป็นแค่จังหวัดเดียว ไม่สามารถชี้วัดได้ทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าเสียงของคนในเมืองหลวงก็ถือว่าดัง และล่าสุด พรรคพลังประชารัฐเอง ก็ได้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ไปเพียง 2 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งกทม.ครั้งนี้ ซึ่งแม้จะเปรียบเทียบทับทาบกันไม่ได้พอดี ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ แต่เห็นได้ว่า พรรคพลังประชารัฐ กำลังมีปัญหาเรื่องคะแนนนิยมในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจเป็นโดมิโน่สะท้อนไปสู่การเมืองในพื้นที่อื่น ๆ ได้

“ครั้งนี้ถ้ารัฐบาลจะแก้เกม คงเป็นบรรดาเทคนิค เช่นเรื่องระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง การยุบสภา หรือเทคนิคทางกฎหมาย โดยเฉพาะกลไกล สว. 250 เสียง ที่ยังคงมีวาระอีก 1 ปี ก็เป็นอีกสิ่งที่มองว่าจะถูกหยิบจับมาใช้ เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแน่นอน ครั้นจะแก้ความชอบธรรมให้กับตัวเองก็คงจะไม่ทันแล้ว”

ทำนองเดียวกัน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี มองว่า รัฐบาลเอง คงจะพยายามแก้สถานการณ์ ขณะที่พรรคเองก็มีศึกหนักหลายด้าน ทั้งเอกภาพภายในของรัฐบาล และเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐเอง และคิดว่าต่อให้ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ยุบสภา เพราะอาจมีผลเพื่ออยากให้การเลือกตั้งยึดไปนานที่สุด

“อย่าลืมว่ายิ่งยื้อ แล้วถ้าไม่มียุทธศาสตร์ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา เศรษฐกิจยิ่งถดถอย ราคาน้ำมันแพง ยิ่งยื้อยิ่งเจ็บหนัก เจ็บสาหัสปางตายได้”


แท็กที่เกี่ยวข้อง  ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ,ผู้ว่ากทม ,เลือกตั้งกทม ,เลือกตั้งท้องถิ่น ,เลือกตั้งผู้ว่ากทม ,ฝ่ายรัฐบาล ,ฝ่ายค้าน ,ชัชชาติแลนด์สไลด์ ,เลือกตั้งใหญ่ ,รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย ,รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ,ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ,นักวิชาการด้านการเมือง ,การเมือง ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ,พรรคการเมืองไทย

คุณอาจสนใจ

Related News