เลือกตั้งและการเมือง

วิเคราะห์ความพ่ายแพ้ “พลังประชารัฐ” กับ อนาคตรัฐบาล

โดย JitrarutP

31 ม.ค. 2565

106 views

นักวิชาการ ชี้ พปชร. แพ้ยับ สะท้อนความชอบธรรมรัฐบาล ชิงยุบสภาตอนนี้อนาคตอาจสาบสูญ


ผลเลือกตั้งซ่อม  ส.ส.กทม.เขต 9 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สะท้อนภาพการเมืองไทยได้ในหลายมิติ กับอายุรัฐบาลที่เหลือเพียงปีเศษ ยิ่งถ้านับรวมความพ่ายแพ้ แบบยับๆ ของ “พลังประชารัฐ” ทั้งที่ ชุมพร และ สงขลา แล้ว หากไม่ติดปัญหาว่าจะมีงานใหญ่ระดับนานาชาติ  อย่างการประชุมเอเปกปลายปีนี้ เวลานี้คงมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไปแล้ว




ผลคะแนนเลือกตั้ง ซ่อม ส.ส. เขตหลักสี่- จตุจักร เวลานี้สะท้อนความรู้สึกของคนกรุงที่มีต่อรัฐบาลได้เป็นอย่างดี  ทั้งกรณีจำนวนคนออกมาใช้สิทธิน้อยกว่าปี 2562 ถึงเกือบ 40,000คน  จำนวนคะแนนของฝ่ายรัฐบาลที่ถูกเกลี่ยออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปให้พรรคฝ่ายรัฐบาลอื่น  ทั้งพรรคกล้า พรรคไทยภักดี ทำให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ชัดเจน ทั้งที่สนามนี้ ประชาธิปัตย์ ก็หลีกทางให้แล้ว

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  วิเคราะห์ว่า  ผลเลือกตั้งที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ มีหลายปัจจัย ดังนี้

1.    ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องแม้จะแพ้การเลือกตั้งปี 2562 แต่ก็ไม่เคยทิ้งพื้นที่ไปไหน มีการปราศรัยที่ดึงดูดฐานเสียงได้เป็นอย่างดี

2.    ปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล การบริหารและแก้ไขปัญหาต่างๆของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา

3.    ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ

4.    ภาพของ นายสิระ เจนจาคะ ที่ถูกเชื่อมโยงกับผู้สมัคร ของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะสามี

5.    การตัดคะแนนกันเองของพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

6.    และบทบาทของ คสช. ที่เปลี่ยนไป ทำให้หน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ของทหาร ยังต้องแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล




แพ้ 3 สนาม กับอนาคต 3 ป.

รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ว่า การแพ้การเลือกตั้งซ่อมถึง 3สนามติดต่อกัน จะส่งผลต่อการเมืองโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ 2 สนามแรก  ชุมพร – สงขลา ส่งผลให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  ต้องแยกตัวออกไป การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ อาจส่งผลต่อกลุ่มที่เหลืออยู่ในพรรค ต้องมาทบทวนถึงคะแนนนิยมทางการเมือง รวมไปถึงทบทวนบทบาท และ บารมี ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ถึงขั้นต้องโยกย้ายถ่ายหนีกันอีกระลอก เพราะเวลานี้ บารมี “บิ๊กป้อม” ไม่เหมือนเดิม  

“ผมคิดว่า 3ป. คงจะขายไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ 3ป.นั้น มีอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และภาพหลายอย่างก็สะท้อนถึงอำนาจของ คสช. ของ 3 ป. ที่ถดถอยลงไปเยอะ ต่างจากปี 2562 ที่ชูแคมเปญเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ แต่การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นการนำเสนอบทบาทของพลเอกประยุทธ์ แทบจะไม่มีผลอะไรในเชิงบวกเลยต่อ พรรคพลังประชารัฐ ”รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว


ชิงยุบสภาเลือกตั้งใหม่อาจสูญพันธุ์?!

รศ.ดร.ยุทธพร ยังวิเคราะห์ถึงทางออกของ นายกรัฐมนตรี หากชิงยุบสภาในวินาทีนี้ ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือพรรคพลังประชารัฐ จะมีขนาดที่เล็กลง และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ก็เป็นไปได้ที่จะไม่ได้เห็นพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า




อย่างไรก็ตามหากไม่มีการยุบสภาและยังเดินหน้าต่อไป ก็ยังมีอุปสรรคจาก กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส    ซึ่งการออกมาโพสต์ ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร” หลังผลเลือกตั้งหลักสี่ออกมานั้น สะท้อนถึงท่าทีของ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส  ที่ ร.อ.ธรรมนัส เองก็ไม่ได้ห่างหายไปจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหาก กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส   ที่ออกมาจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว และอยู่ในสถานะ “เซลล์อิสระ” การเคลื่อนไหวของ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะสร้างผลทางการเมืองอีกไม่น้อย โดยเฉพาะการทำงานในสภาที่ หาก เซลล์อิสระกลุ่มนี้ สนับสนุนรัฐบาลก็อาจจะไปได้ต่อ แต่หากเซลล์อสระกลุ่มนี้อยู่ตรงกลาง ก็ต้องลุ้นกันเป็นกรณีๆ แต่หากเซลล์อิสระกลุ่มนี้ไปอยู่ในฐานะฝ่ายค้านอิสระจะทำให้รัฐบาลกลับสู่สภาวะเสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง



เช่นเดียว กับ อ. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า  ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น พรรคพลังประชารัฐจะเดินเกมในสนามเลือกตั้ง กทม. ได้ลำบากมากขึ้นและอาจจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง หากไม่ปรับตัวขนาดของพรรคจะไม่ใหญ่เท่าเดิม  แต่ถามว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเพราะรัฐบาลอาจจะมองแค่ว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อม ที่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองแข่งขันกัน ไม่ได้เกี่ยวกับความนิยมของรัฐบาล  แต่ด้วยความที่นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ แล้วพรรคพลังประชารัฐอ่อนแอลงแบบนี้  การเลือกตั้งครั้งหน้าพลเอกประยุทธ์ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกหลักในการเป็นแคนดิเดตอีกต่อไป สำหรับพรรคพลังประชารัฐ แต่ชื่อของ พลเอกประยุทธ์ อาจจะถูกเสนอโดยพรรคอื่นแทน  

“สภาพปัจจุบันความนิยมรัฐบาลอาจจะไม่ได้ดีเท่าปี2562 เพราะพรรคหลักที่เป็นรัฐบาลก็แพ้เลือกตั้งแต่มันยังไม่ได้กระทบขนาดที่ว่า คนที่เคยสนับสนุน รับบาลต้องเปลี่ยนใจจากฝ่ายรัฐบาลไปเป็นขั้วตรงข้าม แต่ผลที่ออกมาอาจจะสะท้อนว่าไม่พอใจ และไม่ออกมาใช้สิทธิ เพราะรอบนี้คนไม่ออกมาใช้สิทธิเยอะเมื่อเทียบกับปี 62 หรือเป็นเพราะรอบนี้ฝ่ายรัฐบาลมีตัวเลือกไม่ดีพอหรือเปล่า ทำให้เขาไม่ออกมา”อ.สติธร กล่าว



ส่วนผลเลือกตั้งที่ออกมาจะทำให้รัฐบาบไปต่อได้ลำลากหรือไม่นั้น  อ.สติธร มองว่า ไม่ถึงขนาดนั้นเพราะรัฐบาลอยู่ด้วยเสียง ส.ส.ในสภา ตราบใดที่ยังสามารถคุมเสียงข้างมากในสภาได้ ก็ยังมีโอกาสอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ยากจริง การเรียกร้องการกดดันจากนอกจะต้องเสียงดังกว่านี้ แต่ถ้าไม่พอใจรัฐบาลแล้วยังระบายอยู่ในโซเชี่ยลมีเดียอย่างเดียวแบบนี้รัฐบาลยังพออยู่ต่อไปได้



ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น คอลัมน์ : ใต้เตียงการเมือง





คุณอาจสนใจ

Related News