เลือกตั้งและการเมือง

อดีตประธาน กพฐ. ชี้ 'ห้องน้ำเท่าเทียม' แก้ปัญหาผิดจุด หวั่นทำลายวัฒนธรรมเด็กให้เกียรติครู

โดย nattachat_c

24 เม.ย. 2567

102 views

“อดีต ปธ.กพฐ.” ไม่เห็นด้วย ปม สพฐ. จะไม่แบ่งแยกห้องน้ำครู-นร. ชี้ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ระบุ ควรทำให้ทุกห้องน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะเหมือนกันมากกว่า พร้อมตั้งคำถาม หากทำเช่นนี้ หวั่นทำลายวัฒนธรรม การปลูกฝังเรื่องสัมมาคารวะ-การให้เกียรติครู


จากกรณี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งยกเลิกแยกห้องน้ำครู-นักเรียน ซึ่งจะมีการจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาท ในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนขนาดเล็ก ให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน วันที่ 1 พ.ค. 67 นี้


วานนี้ (23 เม.ย. 67) เพจ ศธ.360 องศา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า


ห้องน้ำครู-นักเรียน ใช้ร่วมกันได้ ในปีการศึกษา 2567 #เรียนดีมีความสุข


มีน้องๆ เคยให้ comment ไว้ว่า "ห้องน้ำครูคือสวรรค์ ห้องน้ำนักเรียนคือนรกมาก" และอีกหลากหลายความคิดเห็น


นอกจากนี้ มีผลสำรวจ สพฐ. ระบุว่า การปรับปรุงห้องน้ำเป็นเรื่องสำคัญของนักเรียนในระดับต้นๆ


รมว.ศธ. เพิ่มพูน" จึงมอบให้ สพฐ.พิจารณา ซึ่งตอนนี้ สพฐ. กำลังปรับปรุงแล้วทั่วประเทศ เด็ก-ครูใช้ร่วมกันได้ ความสะอาดก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย

---------------------

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผย สพฐ. ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือให้มีการปรับปรุงเรื่องของห้องน้ำ สพฐ.จึงรับเสียงสะท้อนเหล่านี้ของนักเรียนมาดำเนินการ พร้อมสำรวจสภาพห้องน้ำของโรงเรียนแต่ละแห่ง โดยเป็นนโยบาย #สุขาดีมีความสุข


ซึ่ง สพฐ. จะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนให้จำนวน 100 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 9,700 แห่ง ที่มีนักเรียน 80 คน ลงมาก่อน


“ขณะนี้เราได้ส่งคณะทำงานลงไปสำรวจในโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวแล้ว พบ สภาพห้องน้ำชำรุดทรุดโทรม กลอนประตูชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ โดยงบที่จัดสรรให้จะให้โรงเรียนทาสีห้องน้ำ เปลี่ยนสุขภัณฑ์ รื้อระบบประปาใหม่ อีกทั้งจะ #ไม่แบ่งแยกห้องน้ำครูหรือห้องน้ำนักเรียนแล้ว #จากนี้ทุกอย่างต้องเท่าเทียม #เด็กและครูสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้


โดยจะแบ่งแยกแค่เฉพาะห้องน้ำชายและหญิงเท่านั้น ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ที่เป็นโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ขอให้สำรวจสภาพห้องน้ำและจัดหางบอื่นๆ ในการปรับปรุงด้วยเช่นกัน รวมถึง สพฐ. จะปรับปรุงระบบไฟฟ้าโรงเรียนด้วย โดยจะจัดสรรงบประมาณในหมวดงบดำเนินงานปรับปรุงให้อีก 100 ล้านบาท เนื่องจากมีการสำรวจพบว่า การเกิดอัคคีภัยในสถานศึกษาส่วนใหญ่มาจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เพราะระบบไฟของโรงเรียนมีการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว และจำเป็นต้องรื้อทำระบบไฟฟ้าใหม่ เพื่อความปลอดภัยของเด็กและบุคลากรในโรงเรียน


นอกจากนี้ จะออกแนวปฏิบัติเรื่องการปรับปรุงพัฒนาห้องเรียนและอาคารเรียน ซึ่งโรงเรียนจะต้องดำเนินการการปรับปรุงทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 เดือน พ.ค. นี้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

----------------

วานนี้ (23 เม.ย. 67) ทีมข่าวได้คุยกับ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว


เพราะมองว่า ปัญหาห้องน้ำของนักเรียนไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งจากการสำรวจของ สพฐ.นั้น พบว่า เด็กนักเรียนต้องการห้องน้ำที่สะอาด แต่กลับมีการแก้ปัญหา โดยใช้วิธีไม่มีการแบ่งแยกระหว่างห้องน้ำครูและนักเรียน ตนมองว่าอาจเป็นจุดทำให้เกิดคำถามประมาณว่า “แล้วความรู้สึกของเด็กนักเรียนเรื่องสัมมาคารวะ ที่เคยให้เกียรติยกย่องครูจะค่อย ๆ หายไปหรือไม่?” อีกอย่างตามธรรมชาติ สมมุติว่าเราเป็นนักเรียน แล้วสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ มองว่าเด็กไม่กล้าใช้


ทั้งนี้ หากใช้เหตุผลเปิดให้เด็กนักเรียนสามารถใช้ห้องน้ำครูได้ โดยไม่แบ่งแยกแล้วห้องน้ำโรงเรียนจะสะอาดนั้น ประเด็นนี้เราต้องกำชับผู้บริหาร ให้ดูแลห้องน้ำเด็กให้มีความสะอาดถูกสุขลักษณะเหมือนห้องน้ำครู หากเราพุ่งประเด็นไปตรงนี้ ตนมองว่า จะมีเหตุผลกว่า


และบางครั้ง การที่แยกห้องน้ำกัน เวลาครูใช้ห้องน้ำ อาจจะมีการคุยกันถึงปัญหาของเด็กหรือพฤติกรรมของเด็กกับเพื่อนครูด้วยกันเอง เหมือนกับในอดีตที่เราไปบอกว่า ตีเด็กก็ไม่ได้ ครูใช้ไม้เรียวไม่ได้ มีเด็กนักเรียนบางคน พอครูง้างไม้เรียว เด็กจะบอกทันทีว่า “ตีไม่ได้นะ เดี๋ยวฟ้อง” เพราะฉะนั้น ผมว่า  วิธีการคิดว่าเด็กต้องการห้องน้ำสะอาด เด็กไม่ได้ต้องการความเท่าเทียม ประเด็นนี้น่าสนใจกว่า


รศ.ดร.เอกชัย  กล่าวต่อว่า หากมีนักเรียนไม่สนใจ แล้วเดินสวนครู ชนครู กระทบไหล่ครู เดินเข้าห้องน้ำครู แล้วสัมมาคารวะด้วยจิตสำนึกที่เราเคยปลูกฝังวัฒนธรรมเด็กให้เกียรติ และยกย่องครู ให้เกียรติผู้ใหญ่ จะค่อย ๆ หายไป


เพราะฉะนั้นขอย้ำว่า เรากำลังแก้ปัญหาผิดจุด วัตถุประสงค์เราไม่ได้ต้องการความเท่าเทียม แต่เราต้องการห้องน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ


แล้วเรียนให้ทราบด้วยว่า ห้องน้ำในโรงเรียน ไม่ใช่แค่ดูห้องน้ำเท่านั้นที่ไม่สะอาด ความสะอาดของน้ำดื่ม น้ำใช้ก็ไม่มีเช่นกัน


บางครั้งห้องน้ำ อย่าว่าแต่เด็กเลย ขนาดครูยังไม่กล้าเข้า พร้อมกันนี้ เราต้องมอง และแยกแยะ ไม่เช่นนั้นในโรงเรียน อาจจะมีครูบางคนมาบอกว่า “ห้องน้ำ ผอ.-ห้องน้ำ รอง ผอ. ขอให้ไปใช้หน่อย” ตนมองว่า ทั้งหมดทั้งมวลเหตุผลน้อยไป


รศ.ดร.เอกชัย ฝากทิ้งท้ายว่า ต้องเห็นปัญหาที่แท้จริง และจัดสรรงบประมาณให้เฉพาะว่า งบประมาณที่ปรับปรุงห้องน้ำ และเมื่อมีการศึกษานิเทศก์ควรนิเทศก์เรื่องการบริหาร / โรงอาหาร / เรื่องสิ่งแวดล้อม และทุก ๆ เรื่องด้วย อีกอย่างเด็กจะเรียนดีมีสุขตามนโยบายของรัฐมนตรีได้ จะต้องมีสุขในเรื่องของสภาพแวดล้อมด้วย

-----------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mcZzBSOFDv0

คุณอาจสนใจ

Related News